Loading...
เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ประจำปี 2563

Three Sisters

 

Three Sisters

ความยาว : 2 ชั่วโมง 33 นาที
ประเทศ : ฝรั่งเศส ฮ่องกง
ผู้กำกับ : WANG Bing
กำหนดฉาย : เสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา: 13.00-16.00 น.
สถานที่ : ห้องมัลติมีเดีย ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

เรื่องย่อ

เด็กหญิงสามพี่น้อง อิง (วัย 10 ปี) เจิน (วัย 6 ปี) และเฟิน (วัย 4 ปี) ใช้ชีวิตโดยลำพังในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งท่ามกลางเทือกเขาสูงของมณฑลยูนนาน พ่อของเด็กทั้งสามทำงานอยู่ในเมืองห่างจากออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ส่วนแม่ทิ้งพวกเธอไปนานมากแล้ว เด็กหญิงทั้งสามคนไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ได้แต่ทำงานในไร่หรือเที่ยวเล่นในหมู่บ้าน อิง พี่สาวคนโตเป็นเด็กพูดไม่เก่งและทรหดอดทน เธอรับหน้าที่ดูแลน้องสาวทั้งสองคนและเป็นคนทำงานส่วนใหญ่ในไร่ ในบางคราวเด็กๆ ต้องช่วยงานปู่และป้าเพื่อเอาแรงงานแลกกับอาหาร วันหนึ่งพ่อกลับมาบ้าน ด้วยความกังวลว่าเด็กทั้งสามจะโตไปโดยไร้ซึ่งคนดูแล จึงตัดสินใจพาเจินและเฟินไปอยู่ด้วยในเมือง ทิ้งอิงไว้ให้ปู่ดูแล ทำให้อิงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับชีวิตที่โดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิม

สาส์นจากผู้กำกับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำผู้ชมไปรู้จักกับวิถีชีวิตของครอบครัวชาวไร่ที่ยากจน เราติดตามความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเพื่อหาคำตอบว่าคนที่มีชีวิตลำบากยากเข็ญเช่นนี้สามารถปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอดได้อย่างไร เด็กๆ เหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างไรในดินแดนอันแสนห่างไกลความเจริญ

เมื่อผมได้พบครอบครัวนี้ครั้งแรกประมาณ 2 ปีที่แล้ว ผมประทับใจกับสถานการณ์ที่แสนยากลำบากอันเป็นบริบทที่เด็กๆ เหล่านี้เติบโตมา ทำให้นึกถึงวัยเด็กและความยากจนที่ผมเคยเผชิญและต้องปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด มันเป็นโลกที่ไร้มนุษยธรรมที่ซึ่งมนุษย์ต้องใช้ชีวิตเยี่ยงสัตว์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโลกที่มีความเป็นมนุษย์มากเหลือเกิน เพราะสายสัมพันธ์ที่มีระหว่างกันช่วยให้พวกเขารับมือกับชีวิตได้ นี่คือเหตุผลที่ผมอยากเป็นประจักษ์พยานให้กับชีวิตจริงของเด็กสาวชาวไร่ผู้ยากจนข้นแค้นในสังคมจีนร่วมสมัย ภาพลักษณ์ของความทันสมัย ความเจริญด้านเศรษฐกิจ และความคล้ายคลึงประเทศตะวันตกที่ประเทศจีนกำลังเสนอตนเองในทุกวันนี้กำลังทำให้อีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือด้านความเป็นมนุษย์ ค่อยๆ เลือนหายไป ความเป็นมนุษย์อยู่ที่ใดในภาพลักษณ์เหล่านั้น? คนที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือเพราะไม่มีเงินอยู่ที่ไหน? แล้วผู้คนที่แม้มีชีวิตรอดแต่ไร้ความหวังที่จะได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกล่ะ?

ผมไม่ได้ต้องการทำการศึกษาวิจัยด้านชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับครอบครัวนี้ ผมเพียงแต่อยากทิ้งประสบการณ์ของชีวิตไว้ให้กับผู้ชม พร้อมกับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นภาพความจริงที่เป็นจริง ปราศจากการปรุงแต่ง เพื่อให้ผู้ชมได้รู้สึกและเข้าใจตัวตนและความรู้สึกข้างในของครอบครัวนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมใช้วิธีการถ่ายแบบแช่ภาพนานๆ เพื่อขยายรายละเอียดต่างๆ ที่แสดงการมีอยู่ของพวกเขา รวมทั้งระยะเวลาและช่วงเวลาของกิจกรรมในแต่ละวัน เราเป็นประจักษ์พยานว่าพวกเขายังคงใช้ชีวิตตามวิถีแบบดั้งเดิม

เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ที่ยังบริสุทธิ์และเรียบง่าย

สรุป Q&A ภาพยนตร์เรื่อง “Three Sisters”

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

ผู้ร่วมเสวนา : ณภัค เสรีรักษ์, กษมาพร แสงสุระธรรม, คมน์ธัช ณ พัทลุง

คมน์ธัช: ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Wang Bing ผู้กำกับภาพยนตร์จากประเทศจีน ปัจจุบันนถือว่าเป็นปรมาจารย์ของผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีร่วมสมัย มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ปี 2003 ชื่อเรื่อง West of the Tracksซึ่งมีความยาวมากกว่าเรื่อง Thress Sisters นี้อีกเพราะว่ายาวถึง 9 ชั่วโมง เขาถ่ายไล่ไปตามทางรถไฟสายหนึ่งในประเทศจีน ระหว่างทางจะมีโรงงานที่ค่อยๆ เสื่อมโทรมและปิดตัวลงทีละโรงงาน ซึ่งเขาถ่ายไล่ไปตามโรงงานและผู้คนอยู่ในโรงงานเหล่านี้ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องTa’ang จำไม่ได้ว่าปีอะไร เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยจากชายแดนพม่า Ta’ang เป็นชนกลุ่มน้อยจากเมียนมาที่ลี้ภัยข้ามชายแดนเข้ามาในประเทศจีน Wang Bing ก็มาทำสารคดีเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ที่ลี้ภัยมา แล้วก็มีภาพยนตร์เรื่อง Three Sisters ซึ่งเป็นภาพยนตร์จากปี 2012 ซึ่งเดี๋ยวเราจะคุยกัน และเรื่องล่าสุดของเขาคือเรื่อง Dead Souls ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้รอดชีวิตจากค่าย Re-education camp ในทะเลทรายโกบี ประเทศจีน

กษมาพร: ดูเหมือนผลงานของผู้กำกับจะมีจุดเด่นที่การถ่ายทำวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งเรามักไม่ค่อยเห็นมากนักในสื่อที่พูดถึงประเทศจีนที่เป็นประเทศมหาอำนาจ นี่คือบริบทสำคัญ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่าน จีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีเมืองขนาดใหญ่ เช่น เสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้  กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและในด้านต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานของผู้กำกับท่านนี้กลับฉายภาพของคนทั่วไปที่อยู่นอกหรืออยู่ขอบของการพัฒนา ฉากที่เราได้เห็นในตอนท้ายที่บอกว่าภาพยนตร์เรื่อง Three Sisters นี้ถ่ายทำในมณฑลยูนนาน เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในบริเวณที่เป็นชายแดนระหว่างจีนกับเมียนมาด้วย

คมน์ธัช: จากสาส์นของผู้กำกับ (Director’s statement) ผู้กำกับเล่าว่าตอนเด็กเขามีฐานะยากจน พอได้มาเจอกับครอบครัวนี้ จึงรู้สึกเชื่อมโยงกับพวกเขาทั้งด้วยฐานะและประสบการณ์ชีวิต และผู้กำกับก็อยากแสดงให้เห็นชีวิตของชาวจีนที่ไม่ได้ทันสมัยหรืออยู่ในภาพเดียวกันกับเทคโนโลยีและความทันสมัยก้าวหน้าของประเทศจีน ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอแบบนั้น

กษมาพร: ถ้าใครรู้จักยูนนานในปัจจุบัน พื้นที่ทางกายภาพของยูนนานกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างเอเชียใต้ ติดกับบังคลาเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือติดเมียนมากับมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ตรงนี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยูนนานเป็นจุดเชื่อมโยง ไม่ว่าจะในการพูดถึงเส้นทางรถไฟจากสิงคโปร์-จีน รวมถึงเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (the New Silk Road) ที่เชื่อมจีนกับยุโรปด้วยเส้นทางรถไฟ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับนำเสนออีกด้านหนึ่งของการพัฒนาที่แสดงให้เห็นพื้นที่ที่เป็นชายขอบหรือพื้นที่ที่อยู่รอบการพัฒนา

คมน์ธัช: เราสามารถเรียกว่ามันเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจได้ไหมครับ

ณภัค: เราสามารถมองยูนนานได้ว่าเป็นมณฑลที่ติดกับเมียนมาและลาว เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเอเชียใต้ตามโครงการต่างๆ  แต่พอย้อนกลับมาในภาพยนตร์ เรากลับไม่เห็นความเชื่อมต่ออะไรเลย ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พูดตรงนั้น ผมคิดว่าความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีภูมิทัศน์หรือ landscape ที่ดูกว้างใหญ่มาก เราเห็นภาพคนตัวเล็กๆ กับฉากขนาดใหญ่อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะการออกไปเก็บของหรือการต้อนฝูงสัตว์ ราวกับว่าเราไม่รู้ว่าสถานที่นั้นคือที่ไหน แม้ผู้กำกับจะบอกว่ามันถ่ายในยูนนาน แต่ท้ายที่สุดมันคือที่ไหนก็ไม่รู้ เขาไม่พูดถึงพรมแดนด้วยซ้ำ ราวกับเป็นพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไป ถูกตัดขาดจากสิ่งต่างๆ เช่น การพูดถึงรถบัสว่าพ่อต้องรอรถบัสที่จะพาเข้าไปในเมือง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของคน ภาพหลักๆ ที่เราเห็นในชีวิตประจำวันของคนในแต่ละวันคือการดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิต คือการทำอย่างไรให้ท้องอิ่ม หรืออาจไม่อิ่มด้วยซ้ำ เราเห็นว่าเขาเลี้ยงสัตว์ มีอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ แต่ตัวเด็กๆ เองก็ต้องกิน เราจะเห็นชีวิตทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงอาชีพและในส่วนที่ต้องเลี้ยงตัวเองไปพร้อมกัน เห็นทั้งการเป็นแรงงานในภาคเกษตรและการดำรงชีวิตประจำวันไปพร้อมๆ กันผ่านความสัมพันธ์ที่ตัวละครมีกับสถานที่และสัตว์  เราเห็นคนกับสัตว์แทบจะเป็นระนาบเดียวกัน 

กษมาพร: เราจะเห็นประเด็นนั้นได้แทบทุกฉากเลย พอฉากบนเนินเขา เราก็จะเห็นสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น แกะ แพะ หมู ในขณะที่พออยู่ในบริเวณบ้าน เราก็จะเห็นสุนัข เห็นแมว

คมน์ธัช: ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจนั้นเราอาจเห็นได้ในรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วย เช่น การที่เด็กๆ ต้องเอาแรงงานแลกกับที่อยู่และอาหารจากป้าและลุง 

กษมาพร: จริงๆ แล้วในทางมานุษยวิทยาก็มีการศึกษาว่า เด็กในสังคมชนบทก็เป็นแรงงานการผลิตอย่างหนึ่ง ความหมายของเด็กอาจจะไม่ได้เหมือนกับในสังคมปัจจุบันหรือในสังคมไทยแบบที่เราคุ้นเคย ตอนแรกที่เราดู เราจะรู้สึกว่าเด็กสามคนนี้ทำงานหนักมาก แต่พอเราดูไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าเด็กทั้งหมู่บ้านล้วนต้องทำงาน ความเป็นเด็กที่ถูกพูดถึงในหนังค่อนข้างต่างจากความเป็นเด็กในบริบทของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ 

ณภัค: น่าสนใจที่เราได้เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนข้ามวัย แต่จะสังเกตว่าคนรุ่นพ่อนี่หายไป ซึ่งพอจะเดาได้ว่าเข้าไปทำงานในเมือง น่าสนใจตรงที่ว่า เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นเด็ก แต่ทุกคนอยู่บนระนาบของการทำงานที่ทุกคนมีหน้าที่พอๆ กัน ในงานที่ต้องใช้แรงกาย ทุกคนก็ต้องใช้แรงกายไปกับงานแบบนี้ทั้งหมด แล้วก็น่าสนใจอีกว่า มีการพูดถึงเงินบ่อยๆ อาจเป็นเพราะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงปัจจัยการผลิตของเขาแล้ว เขามีแกะไม่รู้ตั้งกี่ตัว ทุนหรือปัจจัยการผลิตที่เขามีไม่ได้ถือว่าน้อย แม้ภาพยนตร์ไม่ได้บอกว่าที่ดินตรงนั้นเป็นที่ดินส่วนรวม (common property) หรือเป็นที่ดินที่มีเจ้าของ แต่เราก็เห็นว่ามีการใช้พื้นที่จำนวนมากในการดูแลสัตว์ เก็บผักหลายๆ ชนิด ซึ่งก็มีลักษณะเป็นการเกษตร (farming) แบบหนึ่ง  คืออาจไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมเต็มที่ แต่พื้นที่ที่เขาใช้จำนวนมากน่าจะบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่เราก็ไม่มีโอกาสได้เห็นว่ามันไปต่ออย่างไร ผลผลิตเหล่านี้สุดท้ายแล้วมันไปอยู่ตรงไหน นำรายได้กลับมาเท่าไหร่ น่าสนใจว่าการที่เขามีชีวิตอยู่กับปัจจัยการผลิตจำนวนมากขนาดนี้ มีสัตว์เลี้ยง สัตว์ใช้งานจำนวนมากขนาดนี้ มันจะต่อไปยังระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าได้มากแค่ไหน เราคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจ พ่อก็ยังต้องเข้าไปในเมืองเพื่อหาเงินอยู่ดี

ประเด็นคือ เราสามารถมองหมู่บ้านนี้แล้วทำความเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมจีนหรืออาจจะมากกว่าจีน การผลิตในภาคเกษตรกรรมมีความสัมพันธ์กับภาคอื่นๆ ในแบบไหนบ้าง อย่างน้อยก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างรุ่นของคนที่แตกต่างกัน หรือนำไปสู่การที่คนต้องย้ายออกไป และนำไปสู่อะไรอีกเยอะแยะมากมาย อย่างน้อยนี่ก็คือภาพชีวิตของครอบครัวหนึ่ง

กษมาพร: เราเห็นว่ามันมีฉากที่สำคัญ การที่พ่อไปทำงานในเมืองแล้วพาลูกไป 2 คน ผ่านไปหนึ่งปีก็กลับมา ก่อนไปปู่เตือนแล้วว่า การไปอยู่ในเมืองต้องใช้เงินมหาศาล การกลับมาก็คือการไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในเมืองได้ ทำให้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตในหมู่บ้านโดยทำเกษตร แม้ว่าจะทำให้มีอาหารกิน แต่ไม่มากพอที่จะเลี้ยงหลายชีวิตได้ นอกจากนี้ เมื่อมองฉาก (setting) ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อยู่บนภูเขา ทำให้รู้สึกว่าหมู่บ้านนี้ไม่ได้อยู่ในรัฐอะไรเลย แต่ว่ามีฉากหนึ่งที่เขาไปงานเลี้ยงของญาติที่หมู่บ้านข้างๆ แล้วไปเจอผู้ใหญ่บ้านที่คุยกันว่าเดี๋ยวจะมีโครงการฟื้นฟูชนบท ถ้าจะฟื้นฟู เดี๋ยวเขาจะมาเก็บภาษี  เงินจำนวน 10 หยวนกลายเป็นเรื่องใหญ่มากตอนที่เขาคุยกันว่าจะจ่ายหรือไม่จ่าย ถ้าเราไปดูนโยบายของจีน ในหลายๆ ที่ รัฐบาลจีนจะไปสร้างบ้านใหม่ให้เลย แต่บ้านใหม่จะสัมพันธ์กับวิถีชีวิตหรือเปล่านั้นอีกเรื่องหนึ่ง เท่าที่เห็นตามสารคดี รัฐจะสร้างบ้านตึกให้ เราก็จะเห็นภูมิทัศน์ที่ค่อนข้างประหลาด เช่น อยู่ในชนบทเลย แต่มีบ้านตึกหลายๆ หลัง แต่ก็ทำให้เห็นว่า แม้รัฐจะอยู่ไกล แต่ไม่ได้ทำให้รัฐไม่มีอำนาจที่จะควบคุมถึงพื้นที่ที่ห่างไกลเหล่านี้ รัฐในแบบจีนก็ยังคงเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนมากๆ อยู่ดี

คมน์ธัช: ครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มาจากส่วนกลางด้วย จริงๆ ในชีวิตประจำวันของคนในหมู่บ้านนี้ เด็กน่าจะได้สัมผัสอำนาจรัฐมากที่สุดโดยผ่านโรงเรียนนี่แหละ

ผู้ชม: ผมมองว่าผู้กำกับพยายามจะนำเสนอสิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังทำ ที่รัฐเข้าไปทำโดยไม่ดูบริบทของชุมชนว่าชุมชนต้องการอะไร อย่างเช่นน้ำก๊อกที่ไม่ได้ไหลเต็มที่ มันไหลนิดหน่อยตลอดเวลา ข้างนอกแห้งแล้ง  ในขณะที่หน้าบ้านเฉอะแฉะตลอดเวลา เหมือนกับว่าสุขอนามัยของหมู่บ้านไม่มีเลย สภาพโรงเรียนก็มอซอ หนังสือเรียนเก่า ครูมีอยู่คนเดียวและดูเหมือนเด็กหลายชั้นต้องมาเรียนอยู่ห้องเดียวกัน ตามมุมมองของผม ผู้กำกับพยายามจะบอกถึงที่รัฐกำลังโปรโมต จีนกำลังจะยิ่งใหญ่อย่างโน้นอย่างนี้ ความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง

กษมาพร: ค่อนข้างเห็นด้วยว่าสิ่งที่ผู้กำกับทำคือพยายามให้เห็นว่ามีจีนแบบอื่นๆ และในขณะเดียวกัน ระบบการเมืองการปกครองที่ถูกควบคุมโดยศูนย์กลางมากๆ ก็ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและการพัฒนา จุดที่น่าสนใจคือการที่ผู้กำกับเล่าเรื่องผ่านสามพี่น้อง เพราะเด็กในเรื่องนี้กลายเป็นภาพแทนของคนที่ถูกทำให้ดูไร้อำนาจที่สุดที่จะไปต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่านี้

ณภัค: แต่เด็กก็ปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ได้ในเงื่อนไขที่ไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย โดยเฉพาะในแง่ของชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจหรือการผลิตอาหาร อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบคือ เราจะสังเกตว่าเวลาเขาไอหรือจาม เราจะรู้สึกถึงน้ำมูกน้ำลายอยู่ตลอดเวลา เพราะมีควันไฟ มันคือประเด็นเรื่องพลังงาน เขาใช้พลังงานฟืน พลังงานจากถ่านไม้ ผมคิดว่าผู้กำกับคงไม่ต้องพยายามจัดฉากเลย มันเห็นชัดเจนเลยว่าในพื้นที่ที่เขาไป ระบบพลังงานถูกใช้ในชีวิตประจำวันในระบบการเกษตร พลังงานคือมลภาวะ พอเราดูตรงนี้แล้วก็เห็นว่ามันเป็นแบบนี้ทั้งที่อื่นในจีนและที่อื่นของโลกด้วย ฉากหลายๆ ฉากเหมือนหลุดออกจากกาลเวลา มันอาจเป็นทศวรรษที่ 1980 ก็ได้ หรือ 1990 ก็ได้ หรือปัจจุบันก็ได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายประมาณปี 2010-2011 แต่ว่ามันก็มีความหมายเชื่อมโยงถึงปัจจุบันได้ เป็นประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน มันมีพื้นที่ที่อยู่ที่เดิมตรงนั้น ไม่ได้ถูกผลักไปไหน คนก็อยู่ที่เดิมนั่นแหละและ เขาอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกผนวกเข้ามากับเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ไม่ถูกดึงเข้ามาเลย เพราะมีคนจำนวนมากที่เข้าไปทำงานในเมือง แต่คนที่อยู่ที่นั่นก็ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ ไม่มากก็น้อยในลักษณะที่คล้ายกัน

คมน์ธัช: น่าสนใจที่มันไม่ได้มีแค่ครอบครัวสามพี่น้องนี้ที่พ่อแม่ไม่อยู่ เราได้ยินซ้ำอยู่เรื่อยๆ ว่าพ่อต้องเข้าเมืองไปทำงาน แม่หนีไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ผมก็เดาเอาว่าแม่ก็หนีไปอยู่ในเมืองด้วยเหมือนกัน ภาวะหลายๆ อย่างมีความน่าสนใจ ทั้งเศรษฐกิจของจีน ความรวดเร็วของอัตราการเติบโตและการพัฒนาของจีนเป็นสาเหตุที่ทำให้หมู่บ้านนี้เหลือแต่เด็ก คนรุ่นป้าลุงที่เป็นคนแก่ และสัตว์ ผมคิดว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ เพราะมีอยู่ฉากหนึ่งที่ผมเห็นแม่แกะและลูกแกะ คือแม่แกะยังอยู่ แต่แม่คนไม่อยู่ มันเป็นภาวะที่คนไม่สามารถมีความสัมพันธ์แม่ลูกแบบแม่แกะลูกแกะได้

กษมาพร: ตอนสุดท้ายที่เด็กร้องเพลงว่าเด็กที่อยู่กับแม่คือเด็กที่มีความสุขที่สุดนั้นสะเทือนใจมาก

ทั้งหมดก็กลับมาที่ประเด็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสภาพสังคม ทำไมคนเข้าไปทำงานในเมือง ถ้าการพัฒนามันเท่ากันหมด ทุกคนน่าจะสามารถอยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านได้

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือเวลาเขาพูดถึงรัฐในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาพูดถึงรัฐแค่ในโรงเรียน แต่เราไม่เห็นหมอ ไม่เห็นหน่วยงานรัฐอื่นๆ เลย  มีฉากหัวหน้าหมู่บ้านนิดเดียว มีการพูดถึงไฟฟ้า มีคำพูดว่า “โชคดีนะวันนี้ไฟฟ้าติด” ดูไปดูมาเรารู้สึกว่าอำนาจรัฐมันอยู่กลายๆ นี่แหละ ในพื้นที่ห่างไกลก็ยังอยู่ และในแง่หนึ่ง เราก็ไม่สามารถพิจารณาสังคมอย่างโดดเดี่ยวได้ เพราะสังคมย่อมมีความสัมพันธ์กับสังคมที่ใหญ่กว่าหรือบริบทที่ใหญ่กว่าอีกมากมาย

ผู้ชม: ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย น่าจะเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ อย่างกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มบนเขายังใช้ไม่ไผ่อยู่ ไม่มีประปาทันสมัยเหมือนในภาพยนตร์เรื่องนี้ ความเป็นอยู่ของคนจีนในภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะดีกว่าด้วย เขามีแกะ มีแพะ มีสัตว์เยอะแยะเลย ถ้าของไทยเขามีแค่หมู ไก่

กษมาพร: ที่จริงก็สามารถตั้งคำถามได้ว่าการพัฒนาแบบสังคมไทยมันเท่าเทียมกันหรือเปล่า ต่างไปจากภาพยนตร์ที่เราพูดถึงหรือเปล่า

ผู้ชม: จุดที่พูดถึงแม่กับเด็กมีความเหมือนกับในสังคมไทยต่างจังหวัดในปัจจุบัน เด็กที่ยังไม่เข้ามัธยมจะอยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่มาอยู่ในเมือง ส่วนครอบครัวนี้ เด็กก็โหยหาพ่อกับแม่ เพราะไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว และพอโตขึ้นมา ก็ไม่ได้อยู่กับพอแม่ ตอนนี้สังคมไทยกำลังเป็นแบบนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ไทยเราจะต้องตระหนักว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป

กษมาพร: อยากจะชวนคิดต่อไปว่าสังคมไทยเป็นแบบนี้มากี่ปีแล้ว ทำไมถึงยังเป็นแบบนี้อยู่

คมน์ธัช: เหมือนเรากำลังเห็นภาพสะท้อนอยู่ นี่คือพลังของภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่มีประเด็น เราสามารถมองเข้าไปในภาพยนตร์แล้วเกิดปฏิกิริยาในหัวของเรา

กษมาพร: ที่ผู้ชมบอกว่าน่าจะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับสังคมไทย เลยนึกถึงที่ผู้กำกับบอกว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์เชิงชาติพันธุ์วรรณา หรือไม่ได้ใช้วิธีการแบบชาติพันธุ์วรรณาซึ่งเป็นวิธีการศึกษาแบบมานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วรรณาเป็นวิธีการศึกษาหลักในเชิงมานุษยวิทยาที่เข้าไปทำงานในชุมชนโดยสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม โดยมากมักจะเข้าไปศึกษาชุมชนโดยใช้เวลานานเพื่อสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน พอเราดูสารคดีเรื่องนี้แบบเต็มๆ ก็รู้สึกว่ามีความเป็นงานมานุษยวิทยามากๆ  ระยะเวลาการถ่ายและเกาะติดกับหมู่บ้านนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 3 ปีแน่ๆ และกว่าจะเลือกได้ว่าจะถ่ายครอบครัวไหนเป็นพิเศษ กว่าจะได้ครอบครัวนี้ และสิ่งที่ผู้กำกับทำและน่าสนใจเป็นพิเศษ คือเขามีส่วนร่วมกับครอบครัวนี้ อยู่ในเหตุการณ์ที่ครอบครัวนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง กล้องที่เขาใช้ถ่ายเป็นเหมือนสายตาของนักมานุษยวิทยาด้วยเหมือนกัน เรายังเห็นความอิหลักอิเหลื่อของคนที่รู้ตัวว่าตนเองกำลังถูกถ่ายอยู่ แล้วผู้กำกับก็ไม่ได้ตัดภาพแบบนั้นออกด้วย หรือตอนที่ขึ้นไปบนรถบัสแล้วมีเสียงถามว่าตากล้องไปด้วยหรือเปล่า ทำให้เห็นเลยว่าเขาไม่ได้ซ่อนความสัมพันธ์ชุดนี้ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนถ่ายกับคนที่ถูกถ่าย  ในขณะนี้ถ้าเราไปดูภาพยนตร์ทั่วๆ ไป กระบวนการนี้จะถูกซ่อนอย่างแนบเนียนจนดูราวกับว่าการแสดงทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นผ่านกล้อง

คมน์ธัช: ประเด็นนี้ดีมากๆ ตอนที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก ผมคิดเรื่องนี้ตลอด ผู้กำกับถือกล้องแล้วเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อยู่กับแค่เด็ก 3 คน ในฐานะที่เป็นคนทำภาพยนตร์ด้วย รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอยู่นิ่งๆ ยิ่งเห็นเด็กนั่งร้องไห้ เด็กเจ็บ หรือนั่งอยู่คนเดียว น่าสนใจมากว่าพอเราสวมบทบาทของผู้ถ่ายทำ เราต้องถอยออกจากความจริงประมาณหนึ่ง

กษมาพร: แต่ก็ทำให้เหมือนกับเราได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์อย่างมีระยะห่างประมาณนึงกับครอบครัวนี้เหมือนกัน

ณภัค: มีระยะประมาณหนึ่งแต่ในขณะเดียวกันก็ใกล้มากๆ  ประเด็นนี้ก็ชอบเหมือนกัน ในหลายๆ ครั้ง เราจะเห็นกล้องทั้งเดินตามและไม่เดินตาม ฉากที่เดินตาม มันมีทั้งที่เด็กหยุดก่อน แล้วเขาค่อยๆ ตามแล้วหยุดทีหลัง หรือบางฉากเขาไม่เดินตาม ปล่อยให้คนเดินไป ถ้าคิดในแง่ที่ว่านี่คือสายตาของคนอีกคนหนึ่งที่อยู่ในฉากหรือในบรรยากาศร่วมกัน คนๆ นั้นที่อาจจะเป็นผู้ชมหรือคนถ่ายก็ไม่จำเป็นต้องทำอิริยาบถเดียวกันหรือทำกิจกรรมเดียวกันกับคนในฉาก เหมือนอยู่ด้วยกันแต่ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเดียวกันทุกสิ่งทุกอย่าง เขาอาจจะหยุด เราอาจไม่หยุด เราหยุด เขาไม่หยุด อะไรอย่างนี้  มันทำให้เห็นคนอีกคนหนึ่ง ที่เราไม่เห็นตัวเขาเลย แต่เราเห็นผ่านสายตาสายตาหนึ่ง

กษมาพร: เรารู้สึกว่าหลายๆ ครั้ง น้องอิงอิงที่เป็นพี่สาวคนโตมีการสบสายตากับตากล้องแน่ๆ รู้สึกได้ถึงการหันกลับมามองตากล้อง พอตอนสุดท้ายที่มีเครดิตขึ้นมา ปรากฏว่ามีคนถ่าย 3 คน ก็น่าสนใจไปอีกแบบว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นผ่านมุมมองและผ่านสายตาของคน 3 คน ก่อนที่จะมีกระบวนการตัดต่อเสียด้วยซ้ำ

คมน์ธัช: และสุดท้ายมันก็เล่าเพื่อที่สายตานั้นจะไปจูนกับสายตาของผู้ชมด้วย การที่จะทำภาพยนตร์ออกมาได้ ส่วนหนึ่งผู้กำกับต้องใช้ทัศนคติของตัวเองเพื่อทำภาพยนตร์ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องคิดด้วยว่าปฏิกิริยาของผู้ชมกับสิ่งที่เห็นจะจูนกันติดหรือเปล่า

กษมาพร: ภาพยนตร์เรื่องนี้มันมีระยะแบบนี้ ระยะที่เราพูดถึงมันทำให้ตอนแรกเรารู้สึกว่าเขาเลือกใช้เด็กเป็นภาพแทนของการไม่พัฒนาแบบสุดโต่ง การใช้เด็กเป็นภาพแทนแบบนี้ทำให้เรามีอารมณ์ร่วมได้ง่ายแน่ๆ ช่วงแรกๆ เขาก็ทำให้เรารู้สึกแบบนั้นมากๆ ตอนแรกๆ เราเลยรู้สึกไม่ค่อยชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เลย เพราะรู้สึกว่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือมากไปหน่อย แต่พอดูไปๆ จะรู้สึกว่ามันมีระยะ เขาให้ระยะเราพอสมควร ในขณะเดียวกัน มันไม่ใช่ระยะของตากล้องที่เข้าไปถ่ายอย่างเดียว ขณะที่เราดูภาพยนตร์ มันยังมีระยะของเรากับการดูอีก เพราะฉะนั้นมันห่างออกไปอีก เพราะฉะนั้น ก็เลยรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราคิดอะไรเรื่องพวกนี้ได้เยอะขึ้น

ณภัค: ขอเล่าความประทับใจอีกอย่างหนึ่ง เราจะรู้สึกว่าตั้งแต่ต้นจนถึงก่อนฉากที่มีการประชุมในงานเลี้ยงหมู่บ้าน บทสนทนาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงฉากนั้นไม่ซับซ้อนเลย เป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวันมากๆ เรียบง่ายมากๆ บอกเรื่องราวผ่านคำพูดน้อยมากๆ ก่อนหน้านั้นเราจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านการสังเกต ผ่านภาพ ผ่านอิริยาบถ คำพูดเป็นประโยคสั้นๆ ง่ายๆ พูดน้อยมาก เป็นประโยคที่อธิบายความเจ็บ ความหิว แต่ฉากประชุมหมู่บ้านฉากนั้นเหมือนฟันฉับ โยนบริบทสังคมจีนเข้ามา เรารู้สึกแบบนั้น เพราะก่อนหน้านั้นไม่ได้พูดถึงเลย ถ้าตัดว่าใช้ภาษาจีนออกไป ตั้งแต่ต้นเรื่องเหมือนจะเป็นที่ไหนก็ได้ในประเทศโลกที่สาม แต่บทสนทนาเรื่องเงิน 10 หยวนตรงนั้นมันจริงจังมากๆ มีรายละเอียดที่ทำให้เห็นความชัดเจนของสถานที่เฉพาะมากๆ

กษมาพร: อีกอย่างหนึ่งคือฉากที่ถูกถ่ายบ่อยมากที่สุดฉากหนึ่งนอกจากการไปเลี้ยงสัตว์คือฉากที่อยู่ในห้องครัว ทำให้เห็นว่านี่เป็นวัฒนธรรมจีนมากๆ  การกินข้าวร่วมกัน การทำอาหารมันสำคัญ เขาให้เวลากับฉากนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อทำอาหารให้ ปู่ทำอาหารให้ หรือตอนที่ไปกินข้าวกับป้า รวมไปถึงงานเลี้ยงอาหารขนาดใหญ่ รู้สึกว่าห้องครัวเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญที่สุดในบ้าน

คมน์ธัช: ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละคนมันมีลำดับชั้นอย่างไรด้วย อย่างตอนที่ป้าห้ามทุกคนในบ้านไม่ให้เอาแอปเปิ้ลให้อิงอิง

กษมาพร: หรือฉากที่อิงอิงไปโรงเรียนแล้วดูเพื่อนซื้อขนมก็เหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่าการที่ปู่ให้อิงอิงซึ่งเป็นพี่คนโตอยู่กับปู่ (ไม่ไปกับพ่อ) น่าจะมีเหตุผลสำคัญเพราะช่วยทำงานได้ อีก 2 คนยังเด็กอยู่ ความสัมพันธ์เชิง   เครือญาติที่เราเห็นในเรื่องนี้เป็นความสัมพันธ์ในเชิงการแลกเปลี่ยนการผลิตต่อกัน ปู่บอกว่าถ้าอิงอิงทำงานให้แล้วมาอยู่ด้วยกัน ปู่จะให้เงินนิดหน่อยด้วย เงินที่ได้มานิดหน่อยนั้นก็ดูจะไม่พอไปซื้อขนมหน้าโรงเรียนด้วยซ้ำ

ผู้ชม: สังเกตและรู้สึกว่าเด็กผู้ชายในบ้านป้าเหมือนจะไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ว่าเด็กผู้หญิงต้องทำงานบ้าน อันที่สอง ในงานเลี้ยงหมู่บ้านจะไม่มีเด็กผู้หญิง ยกเว้นอิงอิงและเด็กผู้หญิงอีกคนที่อาจจะเป็นหลานเจ้าของบ้าน แต่เด็กที่ล้อมวงอยู่จะเป็นเด็กผู้ชายหมดเลย เหมือนกับผู้ชายยังเป็นใหญ่อยู่ในสังคมชนบท ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน

กษมาพร: เรื่องนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน ในแง่หนึ่งคือผู้หญิงต้องแต่งงานเข้าบ้านผู้ชายแน่ๆ แบบสังคมจีนอย่างที่เราเข้าใจ เพราะแม่ทิ้งไป ตัวลูกก็ยังอยู่บ้านผู้ชาย คนที่ดูแลหลานต่อก็ยังเป็นคุณปู่ ส่วนเรื่องที่ว่าเด็กผู้ชายไม่ทำงาน เราว่าฉากท้ายๆ เขาทำให้เราเห็นมากขึ้นเหมือนกันว่าเด็กผู้ชายต้องแบกขี้ที่ออกไปเก็บกัน เด็กผู้หญิงเป็นคนเก็บ ในขณะที่เด็กผู้ชายเป็นคนแบก  ซึ่งดูหนักมากๆ หลายๆ ครั้งจะเห็นญาติที่เป็นเด็กผู้ชายที่โตหน่อย เกือบจะเป็นวัยรุ่น ก็เป็นคนที่ไปต้อนแกะ ถ้าเรามองในระบบเศรษฐกิจและด้วยความสัมพันธ์แบบนี้ อาจมองว่าเป็นการแบ่งงานกันทำมากกว่า และการแบ่งงานกันทำนี้น่าจะแบ่งตามเพศได้ด้วย ผู้หญิงอาจจะสัมพันธ์กับงานบ้านมากหน่อย แต่ก็ไม่ชัดเจน เพราะพ่อก็ทำอาหารด้วย แม้จะมีพี่เลี้ยงมาอยู่ที่บ้านแล้ว พ่อก็ยังเป็นคนปรุงอาหาร ไม่ให้ลูกปรุงด้วย เราเลยไม่ได้มองว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่คือการแบ่งงานตามหน้าที่ ตามเพศมากกว่า

คมน์ธัช: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีประเด็นเรื่องการแต่งงานในครอบครัวนี้ที่เป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชน มีการจับคู่เด็ก  เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจด้วย ความสัมพันธ์ทุกอย่างที่เราเห็นในเรื่องนี้ แม้แต่แรงงานหรือการอยู่กิน เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน

กษมาพร: แต่มันก็มีความขัดแย้งแทรกอยู่ อย่างตอนที่คุณปู่จะให้พ่อแต่งงานใหม่และบอกให้จ่ายเงิน 2,000 หยวนให้ผู้หญิงสิ เดี๋ยวก็จะได้แต่งงาน ยังไงผู้หญิงก็ยอมแต่งงาน ถึงต้องมาอยู่ชนบทก็ยอม แต่พ่อที่ไปอยู่ในเมืองมาจะมีวิธีคิดอีกอย่างหนึ่งว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องความยินยอมพร้อมใจด้วย ที่เขาพูดทำนองว่ามีเงินอย่างเดียวก็ไม่พอหรอก มันเห็นความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ของวิธีคิดระหว่างสังคมสมัยใหม่กับสังคมชนบทผ่านบทสนทนาที่มีอยู่ไม่มากนักในเรื่อง

ณภัค: ขอกลับมาที่ประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนส่วนน้อยในที่ต่างๆ จริงๆ กลุ่มคนที่เขาถ่ายนี่เป็นคนฮั่น เป็นคนจีนด้วยซ้ำ จริงๆ ยูนนานก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีคนไต หรืออะไรอีกหลายๆ กลุ่ม เราก็ไม่แน่ใจว่าในยูนนานเอง สถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จะเท่าๆ กันหรือแย่กว่าในเชิงสุขอนามัยหรือเศรษฐกิจ

กษมาพร: เราว่าผู้กำกับพยายามทำให้มันไม่ชัดเจนว่าดินแดนอันห่างไกลนี้อาจจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน

ผู้ชม:  ยูนนานมีภูมิประเทศหลายแบบ ที่เราเห็นในหนังสือมีทั้งสถานที่เขียวชอุ่ม มีทุ่งนา แต่จากในเรื่องนี้เห็นชัดเลยว่าเป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย

กษมาพร: เป็นพื้นที่สูง อากาศน่าจะหนาวเย็นตลอดทั้งปี

ผู้ชม:  น่าจะหนาวอยู่ตลอดและชื้นด้วย ผ้าห่มเลยเปียก

กษมาพร: แล้วก็น่าจะมีขโมยเยอะ เป็นเหตุผลที่ต้องเลี้ยงหมูในบ้าน ต้องล็อคประตู

ผู้ชม:  กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในบ้านเราก็ไม่ล็อคประตู

กษมาพร: อาจเป็นวิธีคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ต่างกัน อย่างปกากะญอนั้น เขาไม่มีความคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว ที่ดินเป็นพื้นที่ที่คนในชุมชนใช้ร่วมกัน มันส่งผลเรื่องวิธีคิดว่าเราจะรักษา แอบซ่อน ล็อคหรือไม่ล็อคบ้านของเรา ในขณะที่ในภาพยนตร์ เราเห็นค่อนข้างชัดว่าทุกอย่างต้องถูกเก็บซ่อน ถูกล็อคไว้

อีกประเด็นคือ รัฐอาจไม่ได้จัดสรรพื้นที่ให้มากนักสำหรับชุมชน บ้านแต่ละหลังเลยมีพื้นที่น้อยมากๆ และพื้นที่นั้นต้องจัดสรรเป็นพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ที่ทำมาหากิน ซึ่งดันเป็นการเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ รอบหมู่บ้านที่เขาถ่ายให้เราเห็นมันกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา

ณภัค: เรื่องนี้น่าจะทำให้เห็นความขัดแย้งกันระหว่างความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนตัวกับสิ่งที่เป็นของรัฐอยู่พอสมควร โดยเฉพาะกรณีสัตว์เลี้ยงไว้ใช้งานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตของเขา

ผู้ชม:  ความรู้สึกจากที่ได้ดูภาพยนตร์คือมีความรู้สึกเห็นแย้งในใจเสมอ ภาพที่เห็นช่วงแรกคือบ้านมันดูระเกะระกะเละเทะ เรารู้สึกว่าทำไมไม่มีการจัดการ ซึ่งหมายความว่าเราเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบตลอดเวลา ว่าถ้าเป็นเรา เราจะไม่ทำแบบนี้ แต่เราจะจัดการแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นมุมแบบมานุษยวิทยา มันคงไม่ดีเลย เพราะเราไม่ควรตัดสิน แต่ชื่นชมที่ภาพยนตร์สวยมาก แสงสีสวยมากเลย มันจัดฉากหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือถ้าจัดก็อาจจะจัดน้อยมาก  นอกจากนี้ ส่วนตัวรู้สึกว่ามันมีสภาวะของความเป็นเมืองและความเป็นชนบทอยู่ค่อนข้างจะเยอะ ในแง่มุมที่เราสะเทือนใจเช่น ฉากที่พ่อกลับมา มีของสวยๆ งามๆ มาให้ลูกสาว เรารู้สึกว่าเสื้อผ้าใหม่ทำให้ลูกสาวสองคนที่จะไปอยู่ในเมืองมีความแตกต่างจากคนอื่น หรือในสังคมไทยก็มีกรณีคล้ายๆ กันที่พ่อแม่ไปทำงานเมืองนอก แล้วส่งของกลับมาบ้านให้ลูกที่อยู่กับปู่ย่าตายาย อีกประเด็นคือเราพบว่า พื้นที่บริเวณบ้านถูกใช้สอยรวมกันหมด เราคิดว่าเขามองสัตว์เลี้ยงเป็นทรัพย์สิน จึงเอาเข้ามาอยู่ในบริเวณบ้าน  สุดท้ายคือเราสังเกตเห็นความเป็นคนในและคนนอกตลอดเวลาของตากล้อง เราจะเข้าไปดีไหม หรือเราจะถอยหลังออกมา น่าคิดว่าฉากเด็กร้องไห้เพราะเลือดออก คนที่เป็นตากล้องควรจะยื่นมือเข้าไปมากน้อยขนาดไหน หรือควรจะหยุดไว้แค่นั้น แต่เขาก็เก่งมากๆ เลยที่ทำให้ทั้งชุมชนไว้ใจเขา อย่างเรื่องนโยบายที่ชาวบ้านกล้าพูดออกมาทั้งที่มีกล้องอยู่ แต่เราก็คิดว่าเขาคงจะตัดบางฉากที่ดูไม่น่ารักออกไป มันมีระยะ มีการวางตัวในฐานะที่เป็นคนทำหนังและมีความเป็นนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปเก็บเรื่องนี้  แต่บางทีเราก็สงสัยว่าเขาควรจะยื่นมือเข้าไปไหม

กษมาพร: จริงๆ ประเด็นเรื่องจริยธรรมของคนทำสารคดีนั้นมีการถกเถียงกันเยอะมาก การยื่นมือเข้าไปช่วยหรือไม่ช่วยสามารถมองในมิติไหนได้บ้าง

คมน์ธัช: คิดว่ามีโอกาสสูงมากที่เขาจะตัดฉากที่ดูไม่ดีหรือไม่น่าดูออกไป เป็นความจริงของการทำสารคดีที่         ผู้กำกับหรือคนทำหนังย่อมมีอำนาจมากกว่าซับเจกต์ (subject) ในสารคดีอยู่แล้ว ไม่ว่าซับเจกต์ จะให้อะไรก็ตาม ผู้กำกับหรือคนทำหนังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้อะไรหรือไม่ใช้อะไรได้อยู่แล้ว ประเด็นเรื่องจริยธรรมว่าเราจะใกล้ชิด จะเข้าไปหรือหยุดเมื่อไหร่นั้นเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบุคคล  คนทำหนังแต่ละคนถ้าวิธีการ (method) ของเขาผิด แต่เขาหาวิธีการยังไงก็ตามที่จะยอมรับมันได้ มันก็ออกมาเป็นภาพยนตร์อยู่ดี หรือในทางกลับกัน คนทำหนังกลุ่มอื่นจะไม่เลือกวิธีการนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยม (taste)  ในฐานะผู้ชมว่าเรารับอะไรได้หรือไม่ได้

กษมาพร: มันก็มีข้อถกเถียง เช่นในกรณีช่างภาพสารคดีสัตว์ เวลาที่เสือจะกินกวางซึ่งเป็นสัตว์เล็กกว่า สิ่งที่เป็นมาตรฐานจริยธรรมของการทำงานคือเขาจะไม่เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติ แม้ว่ามันจะน่าสงสาร แต่นี่คือกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่เข้าไปไปแทรกแซง

กษมาพร: มันเป็นประเด็นของการพัฒนาที่ไม่เท่ากันจริงๆ ตัวผู้กำกับฉลาดมากๆ ที่เล่าเรื่องชนบท แต่เรารู้สึกถึงความเป็นเมืองที่คุกคาม ก็เหมือนที่อาจารย์ณภัคตั้งข้อสังเกตไปว่า เขามีปัจจัยการผลิต มีอาหารแน่ๆ เขาเลี้ยงสัตว์ เขาปลูกผัก แต่เขาไม่ได้ปลูกข้าว แปลว่าอย่างไรเขาก็ต้องการการแลกเปลี่ยน ต้องการเงินมาซื้ออาหารที่เขาผลิตไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเกลือ ข้าว เครื่องปรุง และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไม้สอย ล้วนต้องการเงินมาแลกเปลี่ยน มันจะช่วยตอบคำถามว่าทำไมเขาจะต้องเข้าไปทำงานในเมือง เพราะเขาจำเป็นต้องใช้เงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เขาผลิตไม่ได้ ถ้าสังคมมีการพัฒนาที่สามารถกระจายรายได้ได้ดีกว่านี้ ปัญหาพวกนี้ก็จะมีน้อยลง

คมน์ธัช: น่าสงสัยว่าถ้าอิงอิงป่วยขึ้นมาแล้วไม่มีเงิน เขาจะต้องทำยังไง ยิ่งถ้าไม่มีหมอพยาบาลอยู่แถวนั้นกษมาพร: อันนี้เป็นประเด็นที่ดีที่ภาพยนตร์นำเสนอ การนิยามว่าอะไรคือความเจ็บไข้ร้ายแรงมันเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและเป็นปัญหาเชิงเศรษฐกิจมากๆ ภาพยนตร์ทำให้เรารู้สึกว่า การไอ การน้ำมูกไหล การบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ไม่จำเป็นต้องทายา ไม่ต้องหาหมอ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเป็นด้วยซ้ำ เพราะเด็กทุกคนก็น้ำมูกไหล