Loading...

เกี่ยวกับ ศมส.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบ ด้วยพิจารณาเห็นว่าสาขาวิชามานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ทรงสนพระทัยและทรงมีความเชี่ยวชาญ จึงตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ดังกล่าว เพื่อให้บริการแก่นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป ต่อมาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้เปลี่ยนฐานะเป็นองค์การมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ใน พ.ศ. 2543 โดยมีพันธกิจค้นคว้า พัฒนา และต่อยอดคลังข้อมูลเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านมานุษยวิทยาที่มีคุณภาพ สนับสนุนการวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านมานุษยวิทยาสู่สาธารณะ

งานคลังข้อมูลวิชาการ เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในการเก็บรวบรวมบันทึกความรู้ด้านมานุษยวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความรู้ท้องถิ่นของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลให้บริการออนไลน์ สำหรับเป็นแหล่งค้นคว้าและอ้างอิงสำหรับนักวิชาการและบุคคลทั่วไป ปัจจุบันศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมีฐานข้อมูลให้บริการกว่า 20 ฐานข้อมูล อาทิ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย ฐานข้อมูลงานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย ฐานข้อมูลจดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถเข้าค้นคว้าได้ที่ www.sac.or.th

งานสื่อสารความรู้ มีพันธกิจหลักในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านมานุษยวิทยาสู่สาธารณชน โดยเน้นการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในระดับต่างๆ ได้แก่ ในระดับวิชาการ เน้นการจัดกิจกรรมสัมมนาและบรรยายวิชาการ รวมทั้งการจัดพิมพ์หนังสือวิชาการ เพื่อยกระดับองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายทางวิชาการ ในระดับชุมชนท้องถิ่น เน้นการจัดกิจกรรมอบรมเผยแพร่ความรู้ทางมานุษยวิทยา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ ในระดับบุคคลทั่วไป เน้นการแปรรูปความรู้ทางมานุษยวิทยาเผยแพร่ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ อาทิ การจัดการแสดงทางวัฒนธรรมที่เน้นการแสดงของท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้สังคมเกิดความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของวิชามานุษยวิทยา

งานสนับสนุนการวิจัย เป็นภารกิจในการส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชามานุษยวิทยาสำหรับสังคมไทย โดยเน้นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและสนับสนุนการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านมานุษยวิทยาทั้งในระดับสถาบันการศึกษาและในระดับชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน