Loading...

เกี่ยวกับกิจกรรมฉายภาพยนตร์มานุษยวิทยา

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) มีแผนพัฒนาองค์ความรู้รวมทั้งผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ทาวมานุษยวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาองค์ความรู้ “มานุษยวิทยาทัศนา” (Visual Anthropology) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในวิชามานุษยวิทยาที่ที่อาศัยสื่อโสตทัศน์ เช่น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และสื่อใหม่ (New media) ในการถ่ายทอดงานศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาทัศนา รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด “เสียง” ของชุมชนหรือผู้คนจากหลายหลายวัฒนธรรม

กิจกรรมฉายภาพยนตร์มานุษยวิทยาเป็นความพยายามของ ศมส. ในการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านสื่อภาพยนตร์ ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นสื่อแห่งความบันเทิง แต่ด้วยสายตาแบบนักมานุษยวิทยา ภาพยนตร์เปรียบเสมือน “สื่อบันทึกวัฒนธรรม” ที่ช่วยให้เราเรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่โลดแล่นบนจอภาพยนตร์เปรียบดังกระจกส่องสะท้อนให้เราย้อนมองตัวเองอย่างพินิจและเข้าใจสภาพของสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้น เฉกเช่นเดียวกับนักมานุษยวิทยาที่เดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ห่างไกลก็เพื่อจะเข้าใจ “เขา” และมองตัว “เรา” อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น การฉายภาพยนตร์มานุษยวิทยาจึงมิใช่เพียงการจัดฉายภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่มีความสำคัญในแง่เป็นการเปิดพื้นที่ชวนผู้ชม นักวิชาการ หรือผู้สร้างภาพยนตร์ให้มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ศมส. ไม่เพียงนำภาพยนตร์จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน มาจัดฉายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วัฒนธรรมให้กับสังคมไทยเท่านั้น หากแต่ยังได้สร้างวัฒนธรรมการดูหนังแบบ “ดูหนังเอาความ” คือดูและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากภาพยนตร์