Loading...
เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ประจำปี 2563

หมอนรถไฟ

 

ภาพยนตร์ เรื่อง หมอนรถไฟ (Railway Sleepers)

ความยาว : 1 ชั่วโมง 42 นาที
ประเทศ : ไทย
ผู้กำกับ : สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์
กำหนดฉาย : เสาร์ที่ 25 มกราคม 2563 เวลา: 13.00-16.00 น.
สถานที่ : ห้องมัลติมีเดีย ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
 
เรื่องย่อ

Railway Sleepers (หมอนรถไฟ) สารคดีไทยที่ใช้เวลาในการถ่ายทำยาวนานถึง 8 ปีบนรถไฟไทยตลอดทั้งเรื่อง บันทึกภาพชีวิตประจำวันของผู้โดยสาร พนักงาน และวิวทิวทัศน์ตามเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ โดยพาผู้ชมเดินทางคล้อยผ่านเวลา 2 วัน 2 คืน พร้อมกับทบทวนประวัติศาสตร์รถไฟไทย นำเสนอภาพซ้อนทับเชื่อมโยงกับสังคมในปัจจุบันได้อย่างน่าประหลาด ผ่านการจับจ้องถึงสังคมภายในรถไฟ สถานที่ที่มีมนต์ขลังบางอย่าง

สาส์นจากผู้กำกับ

“แรกที่ประเทศไทยรู้จักรถไฟ มันคือสัญลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ กระนั้นนับจากยุคอาณานิคมเป็นต้นมา รถไฟไทยได้พัฒนาไปอย่างเชื่องช้าในมุมมองของหลายๆคน ราวกับเสมือนเป็นยานพาหนะที่ถูกแช่แข็งไว้กับกาลเวลา สำหรับผม รถไฟเป็นหนึ่งในรูปแบบการเดินทางที่ผมชอบมันเป็นภาพจำลองของชีวิต เป็นที่ที่คนแปลกหน้ามาพบเจอกัน เส้นทางของเรามาซ้อนทับกันเมื่อเรามุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันแต่ต่างจุดหมาย นอกจากนั้น รถไฟยังมีความเกี่ยวพันแนบแน่นกับประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาของประเทศ และ “หมอนรถไฟ” คือหนังที่เชื้อเชิญผู้ชมให้มาร่วมเดินทางบนเส้นทางแห่งทั้งความเป็นสมัยใหม่และการหวนรำลึกอดีตนี้ไปด้วยกัน”

สรุป Q&A ภาพยนตร์เรื่อง “หมอนรถไฟ”

วันที่ 25 มกราคม 2563

ผู้ร่วมเสวนา: สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์, อภินันท์ ธรรมเสนา, คมน์ธัช ณ พัทลุง

หนังเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำถึง 8 ปี ตั้งแต่เริ่มทำหนังเรื่องนี้กระทั่งทำเสร็จ อยากทราบว่าได้โครงเรื่องมายังไง และทำไมถึงต้องใช้เวลาถึง 8 ปีในการถ่ายทำ

            ไอเดียเริ่มแรกกับผลงานที่ออกมาตอนเสร็จต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลย เดิมตั้งใจทำหนังเรื่องนี้เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสมัยเรียนภาพยนตร์อยู่ที่อเมริกา ไอเดียแรกเกิดขึ้นมาตอนนั่งรถไฟข้ามเมืองจากเมืองที่เรียนไปยังแอลเอ ระหว่างนั่งรถไฟตอนเย็นๆ ก็เห็นแสงสวยดี เลยหยิบกล้องเล็กๆ เอามาถ่ายวีดีโอเพื่อจะบันทึกเอาไว้ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีเด็กผู้ชาย อายุประมาณ 5 ขวบ เป็นเด็กเม็กซิกัน เขานั่งอยู่กับพ่อฝั่งตรงข้ามเรา เด็กคนนั้นก็เข้ามาในเฟรมภาพที่เรากำลังถ่ายอยู่ แล้วเขาก็ชี้โน่นนี่และคุยกับพ่อเป็นภาษาสเปน เราไม่เข้าใจภาษาสเปนหรอก แต่เราเข้าใจอารมณ์ของเด็กที่ชี้โน่นชี้นี่และถามนู่นถามนี่ เราก็จินตนาการว่าเขาคงถามว่านี่คืออะไร จะถึงหรือยัง จินตนาการไปถึงว่าเราจะถามพ่อแม่ว่าอะไรตอนเราเป็นเด็กๆ เราก็ถ่ายเก็บไปเรื่อยๆ เด็กก็ถามไปเรื่อยๆ น่าสนใจดี  แล้วก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่า การกระทำของเด็กแบบนี้มันดูเป็นสากลมากเลย  เรารู้สึกว่าตอนเด็กๆ เราก็ถามพ่อแม่แบบนี้เหมือนกัน  เลยเกิดความคิดที่อยากจะถ่ายเด็กในเมืองไทยเวลาเดินทางกับพ่อแม่  อยากรู้ว่าเขาจะถามอะไรพ่อแม่  เรารู้สึกว่าเวลาเด็กเขาจะถามอะไร เขาจะถามอะไรซื่อๆ ตรงๆ เรารู้สึกว่าคำถามของเด็กน่าจะสะท้อนประเด็นสังคมได้โดยไม่ดูจงใจมาก ก็เลยคิดว่านั่นอาจเป็นประตูไปสู่สังคมภาพกว้างได้ผ่านทางเด็ก  ไอเดียแรกจึงมีอยู่ว่า จะถ่ายเด็กเดินทางกับพ่อแม่ด้วยรถไฟประเทศไทย โดยจะถ่าย 10 ครอบครัว  แล้วก็ตอนนั้นจะถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. ถ้าเต็มที่ครอบครัวหนึ่งก็จะได้ 10 นาที ตั้งใจจะอัดยาวเลย ครอบครัวหนึ่งก็ใช้หนึ่งม้วนไม่มีการตัด พอฟิล์มหมดม้วนก็จะขึ้นครอบครัวใหม่ แล้วก็จะคัดเลือก 10 ครอบครัวจากทั่วประเทศไทยทุกภาค แล้วก็จะถ่าย portrait ของครอบครัวพร้อม portrait ของวิวที่ต่างๆ ไปด้วย นั่นคือไอเดียแรกเลย คือถ่าย 10 ครอบครัว 10 รถไฟ 10 ที่ 10 ทาง

ไอเดียนี้เกิดประมาณปีไหน

             ก่อนถ่ายประมาณปีนึง จริงๆ ผมเองไม่ใช่คนที่เดินทางด้วยรถไฟบ่อยขนาดนั้น พอกลับมาเมืองไทยก็เลยลองถ่ายดู ตอนนั้นถ่ายด้วยกล้องวีดีโอทั่วไป ลองมาถ่ายก่อนว่าเป็นยังไง ตอนที่ถ่ายก็หาครอบครัวบนรถไฟที่มีเด็ก แล้วก็ตั้งกล้องถ่าย ก็ค้นพบว่า เด็กไม่ถามอะไรเลย พวกเขาทำอะไรน่าสนใจมากเลยนะ แต่เด็กไม่ถาม เราก็คิดนะว่าหรือเราต้องบังคับให้เด็กถาม ซึ่งมันก็จะไม่ธรรมชาติ ยิ่งถ้าเราตั้งใจจะถ่ายฟิล์มโดยไม่ตัดด้วย แล้วเด็กไม่ถาม ฟิล์มก็จะสูญไปเปล่าๆ ไม่ได้อะไรขึ้นมา เราก็เลยคิดว่าถ่ายฟิล์มไม่น่าจะรอด อย่างน้อยก็ต้องดิจิตอลแล้วแหละ เราก็เริ่มเห็นปัญหาแล้ว ข้อที่สองก็คือ บนรถไฟมีสิ่งที่น่าสนใจตั้งเยอะ ทำไมเราถึงมาโฟกัสที่เด็กกับพ่อแม่ ทำไมไม่ไปถ่ายอย่างอื่น มีอะไรอย่างอื่นน่าสนใจตั้งเยอะ  ก็เลยเริ่มรู้สึกว่าน่าจะต้องเริ่มเปลี่ยนไอเดียแล้ว จากถ่ายฟิล์มเป็นดิจิตอล จากถ่ายเด็กก็อาจจะต้องถ่ายอย่างอื่น  หนังก็เลยเริ่มบิดไปทางนั้น  เลยตั้งใจว่าอยากจะให้หนังมีความออแกนิกมากขึ้น อยากจะถ่ายอะไรก็ถ่ายแล้ว และพอเป็นดิจิตอลด้วย อิสระในการถ่ายของเราก็มีมากขึ้น  โครงสร้างแบบนี้ ที่ไม่ใช่ real time แต่เล่าตามโครงสร้างเวลา เช้า กลางวัน เย็น ยังไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก และไม่ได้มีการวางแผนไว้ว่าจะถ่ายรถไฟชั้น 3 ชั้น 2 ชั้น 1 เป็นโครงสร้างอย่างนี้แต่แรก  คือถ่ายไปเรื่อยๆ แต่ก็มีคิดบ้างเหมือนกันว่ามันจะเป็นเรื่องราวได้อย่างไร ไอเดียตอนแรกคือไม่อยากจะมี plot ไม่อยากจะตามตัวละครคนไหนเป็นหลัก หรือแต่งเรื่องอะไรขึ้นมา เราแค่อยากเก็บเล็กเก็บน้อยในชีวิตประจำวันนี่แหละ แล้วดูซิว่า การเก็บเล็กเก็บน้อยในชีวิตประจำวันมันจะประกอบเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าตัวมันเองได้ไหม มันน่าจะมีความหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้  นั่นคือไอเดียแรกๆ แต่ยังไม่รู้จะเรียงร้อยมันยังไง

            ทีนี้ก็เริ่มพยายามทำความเข้าใจว่า การเดินทางบนรถไฟคืออะไร ข้อเด่นของการเดินทางบนรถไฟคือ เรารู้สึกว่าเราเดินทางผ่านสถานที่และเวลาจริงๆ ถ้าเกิดเดินทางบนเครื่องบิน เรารู้สึกเหมือนเราจะวาร์ปจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งเลย เราไม่ทันรู้ว่าเส้นทางระหว่างนั้นคืออะไร การเดินทางร่วมกันคืออะไร เวลาหรือสเปซที่เราผ่านคืออะไร เวลามีจุดเด่นอยู่ตรงนี้ และมีคนที่หลากหลายมากบนรถไฟ เราก็หาวิธีว่าทำอย่างไรจะให้หนังสามารถ capture สปิริตนี้ไว้ได้  หนังมันต้องทำให้คนดูรู้สึกถึงเวลาที่ผ่านไป สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือให้หนังเรียงตามเวลา เป็นกลางวันแล้วค่อยๆ เย็น เป็นกลางคืนแล้วค่อยๆ เช้า ในหนังมันจะเป็นเวลาประมาณ 2 วันครึ่ง ซึ่งถ้าเดินทางจากภาคเหนือไปภาคใต้จริงมันจะเป็นเวลาประมาณนั้นแหละ ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะอิงเวลาการเดินทางทั่วไทยจากเหนือไปใต้ให้ได้เซนส์แบบนั้น

            อีกข้อหนึ่งคือการที่รถไฟมี 3 ชั้นนั้นเป็นโครงสร้างที่ดีมากเลย เราพาคนดูไปทีละชั้น จากชั้น 3 ชั้น 2 ชั้น 1 เพราะว่าในการที่จะเข้าถึงรถไฟ ราคาถูกที่สุดคือรถไฟชั้น 3 เป็นการขนส่งมวลชนที่คนทั่วไปเข้าถึงได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ดูสมเหตุสมผลดีที่จะเริ่มด้วยชั้น 3 แล้วค่อยพาคนดูเข้าไปที่ชั้น 2 แล้วชั้น 1 ยิ่งคุณมีเงินมากขึ้นคุณก็จะเข้าถึงที่ที่มี privacy มากขึ้น  เมื่อเรามีโครงสร้างตามเวลาตามชั้นแล้วแบบนี้  ทีนี้ก็เป็นคำถามว่าจะเล่าเรื่องยังไง เพราะรถไฟก็มีตั้งหลายเส้น ก็เลยคิดว่า ก็ถ่ายมันทุกเส้นเลย ตอนเรียนเมืองนอกก็จะรู้สึกว่า ผมเองไม่ค่อยจะเข้าใจประเทศไทยเลย ไม่ค่อยรู้จักประเทศไทยดีเท่าไหร่ ยิ่งไปอยู่ต่างประเทศจะมองกลับมาประเทศเราด้วยมุมมองอีกแบบหนึ่ง ยิ่งมองย้อนตัวเองก็จะพบว่าเราเป็นคนไทยนะ แต่เราไม่ค่อยรู้จักคนไทยเลย เราไม่ค่อยได้คุยกับคนในประเทศเลย เราอยู่ใน bubble ของเรามากๆ ในครอบครัวเรา ในพื้นที่เดิมๆ การทำหนังเรื่องนี้เลยเป็นโอกาสที่ดีที่บังคับให้ตัวเองต้องเดินทางแล้วได้ไปพูดคุยพบปะผู้คน รู้จักสถานที่ในประเทศไทย ก็เลยคิดว่าจะถ่ายทั่วทุกเส้นในประเทศไทย แล้วค่อยเอามาเรียงร้อยกัน และจะตัดต่อโดยไม่สนใจเลยว่ามันเป็นเส้นไหน และพยายามเบลอการระบุสถานที่ออกไป แต่มันจะยังได้ sense คร่าวๆ ของการเดินทางจากเหนือไปใต้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ตรงไหน เพื่อให้มันเกิดเซนส์ของการเดินทางในจินตนาการอะไรสักอย่าง คือรู้ว่าเดินทางในประเทศ แต่ไม่รู้ว่าไปไหน แล้วมันไม่จบสิ้นด้วย เพราะว่ามันไม่หยุด คืออยากให้มันเป็นเส้นทางในจินตภาพอะไรสักอย่าง

โครงสร้างที่คิดขึ้นมาได้มาตอนไหน ตอนถ่ายทำบนรถไฟหรือตอนเรียบเรียงฟุตเทจ

              มันค่อยๆ มา ไม่ได้ปิ๊งขึ้นมาทันทีในหนึ่งวัน ค่อยๆ ถ่ายไป ตอนแรกก็เน้นเด็กก่อนตามไอเดียเดิม แต่ต่อมาก็เริ่มเห็นว่าบนรถไฟมีหลายชีวิตมากเลย มันสามารถเป็น metaphor ถึงชีวิตได้ด้วย การเดินทางของชีวิต การเดินทางของประเทศ การเดินทางของอะไรหลายๆ อย่าง ถ้าการเดินทางของชีวิตต้องมีคนแก่ด้วยใช่ไหม เราเริ่มมองหาคนแก่  มีนักเรียน ถ้าเป็นต่างจังหวัด ตอนเช้าจะมีนักเรียนขึ้นรถไฟ ตอนเย็นนักเรียนกลับบ้าน ถ้างั้นก็ต้องมีอาชีพอื่นด้วยไหม แล้วก็จะเริ่มเห็นว่ามันเป็น portrait ของประเทศได้เลย  หลังจากนั้นก็เริ่มคิดว่ารถไฟชั้น 3 มันสนุกมากเลย มีนู่นนี่ แต่พอรถไฟชั้น 2 มันเป็นอีกแบบหนึ่ง เงียบขึ้น มี privacy มากขึ้น ก็ค่อยๆ เก็บมาและเห็นเป็นโครงสร้างในหัวว่ามันเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ ถ้าอย่างนั้นเราต้องลงไปใต้ด้วยสิ เพราะใต้มีมุสลิม หรือก็ต้องไปทุกที่แล้วแหละ  ผมมีฟุตเทจเยอะมาก ประมาณ 140 ชั่วโมง หนังมันแค่ 1 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้นเอง สัดส่วนที่ใช้คือ 100 ต่อ 1 ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเลือกว่าจะเอาอะไรมาใช้ อันนี้คืองานยากเลย จริงๆ ในช่วง 8 ปีนี้ไม่ได้ถ่ายตลอดเวลา คือถ่ายไปก็หยุดคิด  ถ่ายไปแล้วก็เอาฟุตเทจมานั่งดูแล้วก็มาทำ log คือดูแล้วจดว่ามีอะไรบ้างที่เราถ่ายไป ไม่งั้นมันลืม เพราะว่ามันไม่มี story มีแต่ชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ  แล้วก็จะ capture ภาพวีดีโอแต่ละม้วนแล้วทำเป็น thumbnail ไปร้านถ่ายรูปแล้วปริ๊นต์ออกมาเป็นภาพเล็กๆ เหมือนเป็น storyboard เป็นภาพเล็กๆ ซึ่งผมมีประมาณสี่พันกว่าภาพ เก็บไว้ในสมุดสะสมแสตมป์  ตอนตัดต่อก็เอาภาพพวกนี้มานั่งเรียง

ตลอด 8 ปีนั้น พอจะประมาณเวลาที่ใช้ในการถ่ายทำได้ไหม

             จำไม่ได้เลย วันหนึ่งน่าจะประมาณ 2-3 ม้วนถือว่าไม่เยอะ เพราะต้องใช้เวลากับการนั่งรอคนให้เป็นธรรมชาติจำไม่ได้เหมือนกันว่าจริงๆ ถ่ายไปกี่วัน แต่ว่าไม่ได้ถ่ายตลอดเวลา แล้วก็ช่วงที่ถ่ายเยอะๆ น่าจะเป็นช่วง 1-2 ปีแรก เพราะไฟแรงมาก ช่วงหลังเริ่มเป็นการตามเก็บสิ่งที่ขาด เช่นต้องการตอนเย็นมากขึ้น เพราะหนังยังไม่ค่อยมีตอนเย็นเลย  ก็จะเน้นไปถ่ายตอนเย็นอย่างเดียว หรือกลางคืนอย่างเดียว หรือรถไฟชั้น 1 ก็ไปถ่ายหลายรอบ หลายเวอร์ชันมาก ตอนแรกก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะเป็นฝรั่งมาคุยแบบนี้ มีไอเดียอื่น ปีหลังๆ ก็จะเป็นเรื่องการถ่ายตอนจบของหนังเป็นหลัก ถ่ายไว้ประมาณสัก 7 แบบได้  ทุกปีก็จะมีตอนจบแบบใหม่มา แล้วก็ไปถ่าย แล้วก็พบว่ายังไม่เวิร์ค ก็ใช้เวลานั่งคิดว่าจะจบอย่างไรแล้วไปถ่ายเพิ่ม ตอนแรกไม่คิดว่าจะจบด้วยฝรั่งแบบนี้ แต่คิดว่าจะจบด้วยรถไฟชั้น 1

หมายความว่าตลอด 8 ปี ไม่ใช่การถ่ายเก็บทุกอย่าง?

             ใช่ หลังๆ เป็นการถ่ายเพื่อถมสิ่งที่ยังขาด หรือมีไอเดียใหม่ๆ ที่เข้ามา

แสดงว่าโครงเรื่องมันมาหลังจากถ่ายได้ 2 ปีแล้ว

             ก็อาจจะพอบอกได้ว่าหลังจากปีที่ 2

 วิธีการทำงานแบบนี้มีความคล้ายคลึงกับการทำงานของนักมานุษยวิทยา เวลาลงไปทำงานในพื้นที่ที่ต้องทำความคุ้นเคย โดยเฉพาะเวลาไปทำงานพร้อมกับกล้อง ในทางมานุษยวิทยาอาจมองได้ว่ากล้องเป็นอาวุธอย่างหนึ่ง คนที่เจอกล้องอาจจะเกิดความกลัว โดยเฉพาะเวลาเป็นคนแปลกหน้า และยิ่งไปถ่ายคนแปลกหน้า อยากทราบว่ามีกระบวนการทำงานอย่างไร

            ต้องย้อนไปก่อนว่า ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจว่าหนังจะไม่สัมภาษณ์อะไรใครเลย ก็มีการสัมภาษณ์มีการพูดคุยทางหนึ่งที่หนังเป็นไปได้คือถ่ายไปแล้วให้ซับเจกต์คุยกับกล้องไป ป้าทำอะไร ป้าขายของ แล้วก็ค่อยเปลี่ยนคนไป คือเราสามารถทำอะไรแบบนั้นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นช่วงแรกมีแนวคิดแบบนั้น คือคุยและสัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ  แต่พอครึ่งปีหรือปีหนึ่งผ่านไป เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากสัมภาษณ์ เพราะเริ่มรู้สึกว่าถ้าสัมภาษณ์ หนังจะเริ่มมีความเจาะจงคนบางกลุ่ม แทนที่จะเปิดโอกาสให้คนดูคิดและจินตนาการไปเองว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร อยู่ที่ไหน อย่างเก่งหนังมันอาจจะโฟกัสไปที่คน 15 คน แต่เราอยากให้หนังมัน transcend ตัวเองไปสู่อะไรที่มันกว้างกว่านั้น ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่ใช้บทสัมภาษณ์อะไรเลย ทั้งๆ ที่มีบทสัมภาษณ์ดีๆ เยอะเลย  ก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่ายังไงเหมือนกัน  ส่วนคำถามที่ว่าเข้าไปหาซับเจกต์ยังไง อันดับแรกคือ ผมไม่ได้ซ่อนกล้องอะไรเลย เป็นกล้องที่ใหญ่มาก คือกล้อง Canon SL2 แล้วก็ต้องใช้ขาตั้งกล้องที่ใหญ่มากเพื่อตั้งกล้องและกดกล้องไว้ไม่ให้สั่น  คือซ่อนกล้องไม่ได้แน่นอน แม้ว่าผมจะมีผู้ช่วยอยู่คนเดียว เราไปถ่ายกันแค่สองคน เราหลบคนไม่ได้อยู่ดี เพราะพื้นที่บนรถไฟมันแคบ อันดับแรกที่ต้องเจอคือ พนักงานรถไฟจะเข้ามาถามว่าคุณมาทำอะไร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องมีจดหมายจากการรถไฟว่าเราจะมาขอถ่ายภาพยนตร์ เขายอมอนุมัติให้ถ่ายเป็นช่วงเวลา ก็ต้องระบุว่าช่วงวันนี้ถึงวันนี้ ไม่ได้ระบุว่าคันไหนขบวนไหน  ในส่วนของตัวซับเจกต์ แน่นอนว่าทุกคนมองเรา ถามว่าเรามาทำอะไรยังไง มาถ่ายหนังขอเล่นเป็นพระเอกนางเองได้ไหม เป็นมุกที่จะเจอทุกวัน ก็อธิบายไปว่าเป็นนักศึกษา มาถ่ายวิทยานิพนธ์ปริญญาโท อยากจะถ่ายชีวิตผู้คน ก็พูดตามความจริง แล้วก็ใช้ความเป็นนักศึกษา ความอ่อนน้อมในการสร้างมิตรภาพกับทุกคน เขาก็จะซักโน่นซักเรานี่ เป็นการสร้างมิตร จนเขาชินกับเราและชินกับกล้องด้วย เพราะกล้องอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา แล้วเขาจะเบื่อไปเอง เขาก็จะมองเรากับกล้องว่าเป็นสิ่งที่อยู่ตรงนั้น ไม่ได้มีความพิเศษอะไรอีกต่อไปแล้ว ช่วงนั้นแหละที่เขาจะเริ่มมีความเป็นธรรมชาติ เราถึงเริ่มจะถ่ายอะไรได้

ระหว่างการถ่ายบนรถไฟชั้น 3 ซึ่งคนเยอะแยะและ privacy ไม่ค่อยมีกับการถ่ายในชั้น 2 ชั้น 1 ที่มี privacy สูงเนื่ย การเข้าไปถ่ายและทำความคุ้นเคยกับซับเจกต์ แบบไหนยากกว่ากัน

            ชั้น 3 สนุกกว่าและง่ายกว่าเยอะ มันน่ากลัวตรงที่คนมันเยอะ เราจะมีความประหม่าในการขึ้นไปครั้งแรกจริงๆ ทุกวันก่อนถ่ายจะเครียดมาก กลัวว่าวันนี้จะมีใครด่าไหม ต้องใช้ความกล้าเหมือนกัน เพราะว่าถ้าถ่ายสารคดีทั่วไป เราตามซับเจกต์หนึ่งตลอดเนี่ย พอถ่ายวันที่สองวันที่สามเราก็ชินแล้ว เป็นเพื่อนกันแล้ว แต่กรณีนี้คือทุกวันเราต้องไปเจอคนแปลกหน้า เราต้องไปตั้งกล้องต่อหน้าคนแปลกหน้าทุกวัน มันเหนื่อยในการที่จะต้องทำใจให้กล้าเหมือนกัน  แต่ในแง่หนึ่ง การที่รถไฟชั้น 3 มันแน่นและคนเยอะ ก็ทำให้เรากลมกลืนกับคนอื่นๆ ได้เหมือนกัน เราก็เป็นแค่หนึ่งในคนอีกร้อยคนที่อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น มันทั้งประหม่าเพราะคนเยอะ และไม่ประหม่าเพราะคนเยอะด้วย  ในขณะที่รถไฟชั้น 2 เนี่ย มันเริ่มมี privacy แล้ว มันมีม่าน แล้วอยู่ดีๆ เราเอากล้องไปตั้งตรงเขา แล้วบอกว่าผมขอถ่ายพี่ มันก็ดูเหมือนเราไปบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวเขาเพราะมันส่วนตัวมาก ก็ยากกว่า แล้วรถไฟชั้น 2 มันก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ถ่ายด้วย ข้อหนึ่งคือมันไม่มีความวุ่นวายเหมือนรถไฟชั้น 1 รถไฟชั้น 2 ทุกคนจะนั่งกันนิ่งๆ อ่านหนังสือ กินข้าวกันเงียบๆ ไม่ค่อยมีอะไรให้ถ่าย ทุกคนก็จะปิดม่าน อยากอยู่คนเดียว เราก็ไม่กล้ายุ่งมาก แต่มันก็จะเห็นเลยว่าพอเป็นชั้น 2 ปุ๊บ ความเอิกเกริกความวุ่นวายมันจะเงียบขึ้น นิ่งขึ้น สุดท้ายเขาก็ยอมให้ถ่าย เราก็พยายามจริงใจ อธิบายให้เขาฟังว่าเรามาเพื่ออะไร

ถามถึงการสัมภาษณ์ฝรั่งท้ายเรื่อง จะเห็นว่าเป็นคนเดียวที่มีการสัมภาษณ์ ทำไมต้องเป็นคนนี้

            เนี่ยแหละคือปัญหา เพราะแค่รถไฟชั้น 2 ก็ลำบากแล้ว ชั้น 1 นี่จะทำยังไงล่ะ เพราะเขาอุตส่าห์จ่ายเงินมาขนาดนี้เพื่อจะเป็นส่วนตัว แต่เราดันจะไปบุกรุกเขาอีก ก็คงไม่ใช่เรื่อง เลยมีความคิดว่ารถไฟชั้น 1 จะถ่ายยังไงดี ไอเดียแรกที่ถ่ายคือ เป็นผมกับผู้ช่วยนี่แหละเตรียมตัวนอน คุยกัน เก็บกล้อง เหมือนเป็นการโชว์เบื้องหลังเป็นส่วนหนึ่งของการปิดหนัง แต่ก็รู้สึกว่าหนังมันถูกลดทอนจากภาพกว้างมาเป็นเรื่องของเรา ทำให้หนังถูกลดทอนความหมายไปเยอะ ไอเดียต่อมาคือ งั้นลงรถไฟไปเลยดีไหม เลยไปถ่ายชุมชนริมทางรถไฟ ว่าเราได้ลงรถไฟไปแล้วนะ ก็ไม่เวิร์คอีก แต่เราเจออะไรน่าสนใจเยอะมาก แต่ผมรู้สึกว่าในแง่ความหมายหรือ meaning การที่รถไฟมันไม่หยุดและยังอยู่บนรถไฟต่อไป มันได้อารมณ์ความรู้สึกของการต่อเนื่องต่อไปที่เราต้องจินตนาการมากกว่าที่เราจะหยุดไปเลย ก็เลยไม่ใช้แบบนี้  อีกอันหนึ่งก็คือ ไปสัมภาษณ์ลุงที่ทำงานการรถไฟมาประมาณ 30-40 ปี ก็คิดว่าหนังทั้งเรื่องไม่ได้สัมภาษณ์ใครเลย เราก็สัมภาษณ์ลุงคนเดียวแล้วกัน เหมือนเป็นตัวปิดเรื่อง เขาจะบอกทุกอย่างเกี่ยวกับการรถไฟ ก็เลยไปสัมภาษณ์ แต่ปรากฏว่าลุงให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองมากกว่าข้อมูลเกี่ยวกับการรถไฟเสียอีก เขาก็ดีแหละ แต่เรารู้สึกว่าเขาไม่มีพลังพอที่จะปิดหนังทั้งเรื่องได้  ก็เลยรู้สึกว่าอันนี้ก็ไม่เวิร์คเหมือนกัน ในระหว่างหลายปีที่ถ่ายทำ ผมก็พยายามอ่านเกี่ยวกับรถไฟไทยมากขึ้น ทำรีเสิร์ช อ่านหนังสือเกี่ยวกับรถไฟไทย ก็เห็นข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ มันคงดีถ้าสามารถเอาสิ่งเหล่านี้มาอยู่ในหนังได้ ประวัติศาสตร์รถไฟ ความสำคัญของรถไฟ ทำไมรถไฟถึงมีในประเทศสยามได้ แต่ตอนนั้นยังคิดไม่ออกว่ามันจะมาอยู่ในหนังได้ยังไง เพราะว่าหนังเราตั้งใจเลือกทางที่ pure อย่างเดียว คือสังเกตการณ์ (observational) ดูคนอย่างเดียว อยู่ดีๆ จะมีประวัติศาสตร์เราไฟเข้ามาได้ยังไง เราก็ไม่อยากมีเสียงบรรยายเกี่ยวกับการรถไฟขึ้นมา ก็เลยมีไอเดียอีกอย่างหนึ่งคือ เอาโปรเจคเตอร์ขึ้นไปอยู่บนรถไฟชั้น 1 แล้วก็ฉายภาพนิ่งประวัติศาสตร์รถไฟขึ้นไป แล้วผมโปรเจคไปบนเพดาน กำแพง บนพื้นหมดเลย คือเหมือนหนังจบด้วยการขึ้นไปบนรถไฟชั้น 1 แล้วกลายเป็น installation art ที่มีภาพประวัติศาสตร์อยู่ในห้อง ถ่ายมาเต็มหมดเลยนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ ที่ได้ใช้คือพวกภาพโคลสอัพภาพจริงๆ แล้วมันสั่นๆ แต่ที่เห็นสเปซเนี่ยไม่ได้ใช้เลย  จริงๆ แล้วมีภาพรางรถไฟวิ่งอยู่ที่พื้นด้วยนะ เรารู้สึกว่าน่าสนใจ แต่พอเอามาตัดกับหนังเราก็รู้สึกว่าอยู่ดีๆ หนังก็ดัดจริตขึ้นมา เหมือนกับหนังกำลังซื่อๆ แล้วจู่ๆ ก็มาดัดจริต โชว์ความอาร์ตขึ้นมา ประจวบเหมาะกับไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นสมุดบันทึกของวิศวกรชาวอังกฤษที่เขียนถึงการทำงานรถไฟ ก็ลองซื้อมาอ่าน เขาพูดถึงประวัติศาสตร์รถไฟตั้งแต่ยุคสำรวจเส้นทางรถไฟเลย แต่ที่สำคัญคือมันเป็นเหมือนไดอารี คือไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์แห้งๆ อย่างที่เราเคยอ่านมา คือเขาเล่าชีวิตส่วนตัวเลยว่าวันนี้เขาคิดถึงแฟน วันนี้ทะเลาะกับเจ้านาย เล่าหมดเลยว่าไปสำรวจเส้นทางแล้วมันลำบากยังไง เหมือนเป็น oral history ซึ่งรู้สึกว่าดีมากเลย ประวัติศาสตร์ที่เราเคยฟังๆ มามันไม่แห้งแล้งอีกต่อไปเมื่อเล่าผ่านคน แล้วหนังเรามันก็เกี่ยวกับคนด้วย แล้วก็ประจวบเหมาะกับไอเดียของเราที่เคยเฟลไปคือสัมภาษณ์ลุงที่ทำงานการรถไฟ  แต่ผู้เขียนหนังสือนี่เจ๋งกว่าเพราะมีข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เราต้องการพอดี แต่เขาตายไปแล้ว เราจะทำยังไง ก็เลยคิดว่างั้นก็สร้างเขาขึ้นมาเลยแล้วกัน  ฝรั่งที่เห็นเรียกว่าเป็นนักแสดงก็ได้ เป็นคนที่เราอุปโลกน์ขึ้นมาแล้วก็ให้บทเขาพูด เรามาคิดดูก็น่าสนใจดีเพราะว่าหนังทั้งเรื่องมันพยายามบอกคนดูว่ามันเป็นหนังที่บริสุทธิ์มากๆ เป็นสารคดี แต่ในความเป็นจริงหนังก็มีการปรุงแต่งเยอะ เพราะแต่ละช็อตมันไม่ได้มาจากรถไฟคันเดียวกัน รถไฟหลายปีด้วยซ้ำ แต่เรามาตัดต่อหลอกเหมือนกับเป็นรถไฟขบวนเดียว ในความเป็นหนังที่ดูเหมือนจะบริสุทธิ์มันมีการปรุงแต่งจากคนทำหนังเยอะมาก ถ้าเรามองว่าหนังกำลังพูดถึงประวัติศาสตร์รถไฟ คนดูต้องตระหนักด้วยว่ามันเป็นการเล่าโดยผ่านการปรุงแต่งของคนทำอยู่ เราก็อยากบอกคนดูด้วยเหมือนกันว่าอย่าเชื่อหนังเรื่องนี้มาก มันมีการเลือกสรรแล้วในสิ่งที่อยากให้คุณเห็น เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์รถไฟไทย มันก็จะมาจากประวัติศาสตร์รถไฟไทยของรัฐ การทำหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการทำประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่งผ่านคนธรรมดา สุดท้ายก็คือผ่านเรา เราก็เขียนเรื่องใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน มันคงดีถ้าทำให้คนดูตระหนักว่าทุกอย่างเป็นการปรุงแต่งอยู่เหมือนกัน เป็นการเล่าประวัติศาสตร์แบบหนึ่งผ่านการปรุงแต่งอีกแบบหนึ่ง ก็เลยคิดว่ามันน่าสนใจดีเพราะหนังมันพลิกตัวเองจากสารคดีมาเป็นกึ่งฟิคชั่น หรือกึ่งอะไรสักอย่างที่คนดูรู้ว่ามันไม่จริงแล้วแหละ แต่พยายามเล่าเหมือนจริงนะ  เล่าประวัติศาสตร์จริงที่ดูเหมือนไม่จริงให้คนตั้งคำถามกับหนังเรื่องนี้  อีกอย่างหนึ่งที่เราอยากจะพลิกคือ ช่วงท้ายจะได้ยินเสียงเราคุยยาวมาก เป็นเสียงผมเองที่คุยกับฝรั่ง อันนี้อยากจะพลิกเหมือนกันว่าคนทำหนังที่ทำตัวเหมือนไม่มีตัวตนมาทั้งเรื่อง อยู่ๆ ก็ยึดครองหนังขึ้นมา มีตัวตนขึ้นมาเยอะ ก็พยายามจะเล่นตรงนี้เหมือนกันว่า สุดท้ายหนังเรื่องนี้มันก็เล่าผ่านเราคนเดียวแหละ แม้เราจะพยายามบอกว่าเราเล่าเรื่องราวของประเทศ ภาพ portrait ของประเทศ สุดท้ายมันก็ผ่านคนๆ เดียวอยู่ดี ก็พยายามจะคุยกับคนดูตรงนี้เหมือนกันว่าการมองหนังเรื่องหนึ่งมันต้องมองโดยตระหนักตลอดเวลาว่ามันผ่านคนทำ เลยเลือกวิธีนี้ ก็ลงตัวว่าจะสัมภาษณ์ฝรั่งคนนี้ที่เรามองว่าเหมือนเป็นตัวแทนของรถไฟ เพราะเขาทำงานกับการรถไฟมาตั้งแต่ต้น เป็น entity ที่อยู่ในห้องลึกลับชั้น 1 ถ้ามองในแง่การเล่นเกมคือเขาเป็นตัวบอส อยู่ในห้องลึกลับสุดที่กุมความลับของการรถไฟเอาไว้

หนังเรื่องนี้มีความใกล้เคียงกับ Snowpiercer ของบงจุนโฮ?

            ใช่ เรามาดู Snowpierce ทีหลังแล้วพบว่ามันเหมือนกันเลย เราคิดมาก่อน แต่มันเหมือน เราคิดว่ามันเป็นโครงสร้างสากลของการผ่านด่านอะไรสักอย่าง

 เรื่องเสียงรถไฟที่อยู่ในหนังตลอดเรื่องก็เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของหนังเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าตั้งใจหรือเปล่า

             ตั้งใจมากเลยครับ เรืองเสียงนี่ซับซ้อนมาก ในแง่เทคนิค แต่ละช็อตมันมาจากรถไฟคนละขบวน แต่ละขบวนก็มีเสียงคนละแบบ หรือว่าสปีดรถไปต่อให้ขบวนเดียวกัน ถ้าสปีดช้าหน่อยหรือเร็วหน่อยมันก็จะเปลี่ยนเสียงแล้ว นั่นคือการที่เราตัดต่อแต่ละช็อตมาต่อๆ กัน เราใช้เวลามากในการค่อยๆ มิกซ์เชื่อมจากช็อตหนึ่งไปอีกช็อตหนึ่งแล้วให้เสียงมันเนียนต่อกันไปได้ มันเลยใช้เวลาในการตัดต่อเสียงเยอะมาก เราต้องการให้คนดูรู้สึกเหมือนอยู่บนรถไฟจริงๆ เราก็พยายามระมัดระวังและละเอียดอ่อนที่สุดกับการใช้เสียงเพื่อจะเลี้ยงคนดูให้เหมือนกับมีประสบการณ์อยู่บนรถไฟจริงๆ  อีกเสียงที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลาคือเสียงตะโกนขายของที่มีมาเรื่อยๆ เราก็พยายามจะสร้าง sense แบบนั้นของหนังเหมือนกัน เพื่อให้คนดูรู้สึกเหมือนตอนเราอยู่บนรถไฟจริงๆ คือมันวุ่นวายเอิกเกริกเอะอะมะเทิ่ง มีการ manipulate เสียงอยู่เยอะมากเหมือนกันแม้ว่าหนังมันจะดูบริสุทธิ์มากก็ตาม แต่จริงๆ แล้วมันมีการจัดวางของเราอยู่เยอะ ตอนที่หนังไปฉายครั้งแรกที่             ปูซาน ผมดูในโรงใหญ่ๆ ครั้งแรกพร้อมกับคนดู ผมก็รู้สึกว่าเสียงมันยังไม่เวิร์ค เสียงไดอะล็อกบางอย่างเราตั้งใจให้เบา แต่มันเบาจนเสียงรถไฟกลบไปจริงๆ จนเราไม่ได้ยิน หรือว่าเสียงที่เราอยากให้มีอารมณ์อะไรบางอย่างมันดันไม่มี หรือ dynamic ของมันไม่มี พอเรากลับมาจากปูซานเราก็มิกซ์เสียงใหม่ เพราะเรารู้สึกว่าเสียงมันสำคัญมากเลย อย่างน้อยในความตั้งใจของผม คือเสียงรถไฟถ้าเราฟังไปเรื่อยๆ เราจะอยากหลับ มันเคลิ้มมาก ทำยังไงให้มันไม่เคลิ้มมากจนทำให้คนทั้งโรงหลับ ขณะเดียวกัน เสียงก็ต้องสร้างความเหนื่อยด้วย คนดูต้องรู้สึกเหนื่อย ถ้าคนดูไม่เหนื่อย ก็จะไม่ได้รับประสบการณ์ของการอยู่บนรถไฟจริงๆ ต้องเป็นการรักษาสมดุลระหว่างความเหนื่อย ความสนุก ความง่วง และเวลารถไฟมันหยุดทีนึง มันจะเงียบ นานๆ ทีมันจะหยุด มันมีค่ามากเลย หรือว่าพอมันเป็นรถไฟชั้น 1 มันจะเงียบ เรารู้สึกว่ามันมีความหมายมากเลย

สังเกตได้ว่าพอเริ่มมาชั้น 2 เสียงรถไฟมันจะเบาลงด้วย พอถึงชั้น 1 นี่แทบหลับได้เลย     

            ใช่ เราก็พยายามออกแบบมาอย่างนั้น และพยายามจะพูดถึงประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่เสียงดังมาก คือมันไม่มีการควบคุมเรื่องเสียงเรื่องอะไรจริงจัง ในแง่หนึ่งคุณก็ต้องรวย ต้องมีเงิน ถึงจะได้ความเงียบนี้

ประเด็นนี้น่าสนใจ ในแง่หนึ่งเวลาเราพูดถึง Visual Anthropology เรามักจะสนใจเรื่องภาพ แต่ในแง่อารมณ์ความรู้สึก เสียงมันมีอำนาจมากเหมือนกัน เสียงในหนังเรื่องนี้ มันทำให้รู้สึกถึงรถไฟจริงๆ จะเห็นว่าการเสียงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าภาพ ถ้าให้เปรียบเทียบตั้งแต่เริ่มถ่ายจนถึงตอนนี้ รถไฟไทยมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม

            มีโอกาสได้นั่งรถไฟบ้างแต่ไม่บ่อย สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป แต่ผมไม่ได้เห็นกับตา คือเขาห้ามกินเหล้าบนรถไฟแล้ว ในหนังยังกินเหล้าอยู่ได้ โดยเฉพาะหลังจากมีกรณีที่พนักงานรถไฟไปข่มขืนผู้หญิง ตอนนี้การรถไฟเลยแบนเรื่องเหล้าแล้ว ถ้าสังเกตช่วงท้ายของหนังที่จะมีรถไฟสีแดงๆ ม่วงๆ สวนเข้ามา อันนั้นก็เป็นรถไฟใหม่ที่มีการปรับปรุงมากขึ้น  ชั้น 1 ก็ดีขึ้น ก็ดีขึ้นนิดนึง แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ายังคล้ายๆ เดิม  รถไฟอย่างน้อยก็ชั้น 3 มันไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมาก มันก็จะมีบางที่ที่ไม้รองหมอนรถไฟถูกเปลี่ยนเป็นคอนกรีตทั้งหมด มันจะมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ซึ่งส่วนตัวผมเองรู้สึกว่ามันยังไม่พอ มันต้องเปลี่ยนมากกว่านี้อีกนิดนึง แต่ในแง่มุมมองของคนทำหนังเรื่องนี้ เราก็จะมองด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง อาจจะต่างจากคนทั่วไปที่มอง  เราก็จะเห็นความยากลำบากของเราว่าตอนนั้นเรามีแรงไปทำได้ไง

อยากปรับเปลี่ยนอะไรในหนังเรื่องนี้บ้างไหม

            ไม่เชิงว่าอยากปรับเปลี่ยน แต่เป็นเชิงว่ามีฟุตเทจอีกตั้งเยอะที่ไม่ได้ใช้ และรู้สึกเสียดายมากกว่า พอมาดูอีกทีหลังจากไม่ได้ดูมานาน ก็รู้สึกว่ามันก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์เหมือนกัน มันเก็บภาพพวกนี้ไว้ ยิ่งในอนาคตถ้าประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูงแล้วถ้าเขายกเลิกรถไฟแบบนี้ แต่เรามีอีกเป็นร้อยชั่วโมงเลยที่เราไม่ได้แบ่งปันกับคนดู เรารู้สึกเสียดายที่เราไม่ได้เอาพวกนั้นมาใช้ จริงๆ ผมเคยมีไอเดียว่าอยากจะให้หนังมันยาวมากๆ  4 ชั่วโมงครึ่งอะไรแบบนี้ ให้คนดูรู้สึกว่าเดินทางจริงๆ แต่ตัดไปตัดมามันก็สั้นลงเรื่อยๆ  เพราะถ้าหาก 4 ชั่วโมงครึ่งมันก็จะหาที่ฉายยากมาก กลายเป็นว่าหนังไม่เข้าถึงคนดู เราก็ต้องยอมชั่งน้ำหนักตรงนี้เหมือนกัน เลยกลายเป็นหนังความยาวปกติ นั่นหมายความว่าเราก็ต้องเสียสละสิ่งที่เราถ่ายไว้เยอะเหมือนกัน ภาพอะไรที่สวยเกินไปจะตัดทิ้งหมดเลยเพราะไม่งั้นหนังจะกระเด้งออกมาเป็นช็อตๆ  บางช็อตสวยเหลือเกิน มีที่ไปถ่ายทุ่งทานตะวัน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว พวกนี้เราก็ต้องตัดทิ้งเหมือนกัน ไม่งั้นจะกลายเป็นหนังท่องเที่ยว หรือว่าอะไรที่โหดเกินไป อย่างเช่นคนด่ากัน หรือว่าเมาแล้วทำอะไรเละเทะ เรารู้สึกว่าเราใช้อันนี้ไม่ได้ ถ้าในเชิงมานุษยวิทยาคือเราอาจจะไปละเมิดสิทธิเขาหรือเปล่า หรือว่าในบทสัมภาษณ์อาจจะมีที่ไปสัมภาษณ์ป้าคนนึง ป้ากำลังจะไปตามหาลูกสาวที่หายตัวไปกรุงเทพฯ พอถามว่าลูกสาวอยู่ที่ไหน ป้าบอกป้าไม่รู้ คนข้างบ้านบอกป้าว่าลูกสาวอยู่กรุงเทพฯ  มันมีเรื่องสะท้อนสังคมสะท้อนใจเยอะมาก แต่พอเราเลือกทางแบบนี้ หนังมันก็ไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ มันได้อย่างเสียอย่าง ได้ในแง่ที่เปิดโอกาสให้คนดูจินตนาการหลายอย่างแต่ความเจ็บปวดหรือความสะท้อนสังคมลึกๆ ก็อาจไม่ได้ ก็ไปได้อย่างอื่นแทน ซึ่งเราจะเสียดายในแง่นั้นว่ามีอะไรหลายอย่างที่หนังทำไม่ถึง

มีโอกาสจะเอาฟุตเทจพวกนี้มาทำเป็นหนังสั้นหรือหมอนรถไฟภาค 2 ไหม

            ถ้ามีพลังงานอาจจะทำ แต่เราก็อยากจะไปทำอย่างอื่นแล้วเพราะเราอยู่กันมา 8 ปีกับโปรเจกต์นี้ จริงๆ แล้วสามารถทำโปรเจกต์นี้ไปชั่วชีวิตเลยเมื่อดูฟุตเทจที่มี

อยากทำสารคดีอีกหรือเปล่า

            อยากทำครับ อยากทำ

พอดูหมอนรถไฟแล้วก็รู้สึกว่าคนนั่งรถไฟมีลักษณะเฉพาะอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาต้องนั่งรถไฟ ตลอด 8 ปีที่ถ่ายทำ พอจะเห็นอะไรในตัวคนนั่งรถไฟที่มีความ unique และเชื่อมโยงกันบ้างไหม

             ที่เชื่อมโยงกันอาจจะเห็นในรถไฟชั้น 3 เพราะมันถูก คนต้องใช้เพราะจำเป็น ช่วงที่ถ่ายคือมีรถไฟฟรีด้วย คนก็จะเยอะและใช้เพราะต้องใช้ มันไม่มีเงิน เงินต้องเอาไปใช้ทำอย่างอื่น เพราะงั้นก็ต้องใช้  หรือสำหรับคนทำงานหรือนักเรียน รถไฟก็จะเป็นเส้นทางที่สะดวก ถ้ารถไฟไม่เลท เขาก็จะเดินทางตามตารางได้พอดี  อีกแบบหนึ่งก็คือสโลว์ไลฟ์ ไปเก๋ๆ จะจ่ายแพงกว่านี้ก็ได้ แต่ไปเพื่อเอาประสบการณ์ดูวิว โดยมากกลุ่มนี้จะมากับเพื่อน ไปหัวหิน ไปอะไรก็ตาม แล้วก็จะมีพวกกลัวเครื่องบิน แต่กลุ่มนี้จะนั่งรถไฟเที่ยวกลางคืน ไปเชียงใหม่ด้วยรถไฟกลางคืน หลับไป ถึงนู่นตอนเช้า  มีฝรั่งด้วยเหมือนกันมานั่งรถไฟเพราะอยากได้ประสบการณ์ความบ้านๆ  เป็นอารมณ์แบบนั้น  นอกนั้นยังจะมีคนรักรถไฟ คุยกันจนสนิท เขาก็จะให้ความรู้เรื่องรถไฟได้มาก เขาจะแนะนำพี่ควรจะไปเส้นนั้นสายนี้ จะได้วิวอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับเรามาก

เคยถามเขาไหมว่ามี passion กับรถไฟขนาดนี้ได้ยังไง

             คนนั้นเขานั่งรถไฟมาตั้งแต่เด็ก เลยสนใจใคร่รู้มาตั้งแต่เด็ก คงเป็นความผูกพันของเขา แต่คนนี้ก็ไม่เท่าอีกคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย คือให้เขามาดูตอนที่ตัดต่อหนังเป็นเวอร์ชั่นที่เราชอบแล้ว ขอให้เขาช่วยคอมเมนต์ในมุมมองคนรักรถไฟว่าเรานำเสนอภาพรถไฟได้ถูกต้องไหม มีอะไรผิดพลาดอย่างรุนแรงไหม หรือประวัติศาสตร์อะไรก็ตาม ปรากฏว่าเขาไม่ได้ดูอย่างที่เราคิดว่าเขาจะดูเลย เขาสนใจว่าตรงนี้ถ่ายที่นั่นที่นี่ใช่ไหม นี่มันเสียงรถไฟขบวนนี้นี่ เขาจำแม้กระทั่งเสียงได้ว่าเราเอาเสียงนี้มาใส่เสียงนี้  เขาสามารถบอกได้กระทั่งว่าถ้ารถไฟเอียงอย่างนี้ และเป็นทุ่งนาอย่างนี้ มันต้องเป็นสถานีนี้แน่นอน กลายเป็นว่าเขาดูหนังในแบบที่เราไม่เคยคิดว่ามีคนดูหนังแบบนี้ด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจมากคือคนดูจะดูหนังไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน 

            พอเขาดูแบบนั้นแล้วเราตื่นเต้นมากเลย เพราะเรารู้สึกว่าหนังมันอ่านได้เยอะ อีกอย่างที่เรากลัวมากเลยคือ เราไม่ได้นำเสนอภาพรถไฟในแบบที่เป็นอุดมคติ เรานำเสนอความจริงที่เราเห็น แต่เขาก็โอเคมากเลย

ดูหนังผ่านแว่นมานุษยวิทยา

อภินันท์: รถไฟเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความทันสมัย จริงๆ ตอนเปิดเรื่องจะเห็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 ที่ว่ารถไฟจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า ซึ่งรถไฟมีฟังก์ชั่นอย่างนั้นจริงๆ  รถไฟมาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่และดำรงอยู่ในความเป็นสมัยใหม่ได้ด้วย ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีรถไฟ การมีรถไฟมีนัยสำคัญ 2 ประการ คือ ถ้ามองในแง่พาหนะ เป็นการขนส่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง รวมทั้งเป็นระบบรางที่ผ่านสถานที่ต่างๆ ระหว่างทางจึงเกิดการพัฒนาขึ้นตลอดทาง นัยที่ 2 คือเกิดการเชื่อมโยงบางอย่างจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ถ้ามองในมิติประวัติศาสตร์ จากหนังจะพบว่ารถไฟเส้นแรกคือเส้นที่ไปโคราช การเลือกเส้นทางมีความสำคัญมาก หากถามว่าทำไมต้องสร้างเส้นนี้เป็นเส้นแรก ก็เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรามีปัญหากับฝรั่งเศส รัชกาลที่ 5 จึงทรงพยายามสร้างรถไฟให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย รถไฟเป็นพาหนะนำความเป็นชาติไทยไปถึงทุกๆ ที่ เพราะฉะนั้นก็จะกระจายไปทางสายใต้ สายอีสาน สายเหนือ เพื่อที่จะบอกว่านี่คืออาณาเขตของประเทศไทยผ่านรถไฟ นั่นคือหน้าที่ของรถไฟในยุคนั้น พอมาถึงปัจจุบัน เรากำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นสัญลักษณ์หรือเป็นภาพแทนของความทันสมัย มันคือการบอกว่าประเทศนั้นต้องพัฒนาแล้วถึงมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยสรุป ในแง่มุมทางมานุษยวิทยาอาจมองได้ว่ารถไฟคือเทคโนโลยีทางอำนาจในการสถาปนาความเป็นชาติและการบอกถึงความเป็นสมัยใหม่ ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง มีการศึกษาด้านมานุษยวิทยาโครงสร้างพื้นฐาน (Anthropology of Infrastructure) ซึ่งเมื่อเราพูดถึงโครงสร้างพื้นฐาน เรามักจะมองไม่เห็นมัน เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวัน เราจะพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานหรือรู้สึกถึงการมีอยู่เฉพาะเมื่อมันมีปัญหา จึงมีความพยายามที่จะศึกษาว่าโครงสร้างพื้นฐานนั้นสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันมนุษย์อย่างไร  รูปแบบวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน การมีรถไฟก็ทำให้วัฒนธรรมเปลี่ยนไปมากมาย วัฒนธรรมการกินก็เกิด เช่น ข้าวผัดรถไฟ อีกประเด็นหนึ่งคือ หนังเรื่องนี้มันช่วยจำลองให้เห็นประเทศไทยทั้งประเทศ พาหนะในการเดินทางที่จะทำให้เราเห็นภาพความเป็นประเทศไทย ไม่น่าจะมีอะไรที่ดีกว่ารถไฟ เพราะคนชั้นกลางก็นั่งเครื่องบิน หรือรถบัสก็ไม่ได้มีคนหลายประเภทนักอยู่ในรถคันเดียวกัน แต่กรณีของรถไฟ มันมีทั้งชั้น 3 ชั้น 2 และชั้น 1 มันจำลองภาพประเทศของเราว่าชีวิตผู้คนมีความหลากหลายมากและมีกิจกรรมของตนเอง ซึ่งผู้กำกับหนังก็บอกว่า ในขณะที่มีคนหลากหลายอยู่บนรถไฟ ก็อาจมีใครสักคนที่กำลังกำหนดเส้นทางและพาเราไป และเราก็นั่งไปกับมัน โดยไม่รู้หรอกว่าเรากำลังไปไหน

สมพจน์: รถไฟในแง่หนึ่งก็เป็นการสร้างชาติ เพราะไปทำหน้าที่กำหนดทิศกำหนดอาณาบริเวณ และในขณะเดียวกันก็รวมศูนย์ (centralize) เข้ามาด้วย นอกจากการสร้างแผนที่ (map) ของประเทศ ก็กุมอำนาจเข้ามาอยู่ศูนย์กลางด้วยเหมือนกัน ลืมเล่าไปว่า มีตอนจบแบบที่ตั้งใจไปถ่ายที่หัวลำโพงด้วยกล้อง HD คือเปลี่ยนลุคไปเลย คือเป็นศูนย์กลาง แต่เราก็คิดขึ้นมาได้ว่าเรากำลังทำในสิ่งที่รัฐกำลังทำ คือกำลัง centralize หนัง แล้วเลยเกิดคำถามว่าทำไมต้อง centralize เพราะเป็นเรื่องตลกเพราะคนชอบล้อว่าประเทศไทยคือประเทศกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ มีทุกอย่าง ที่อื่นไม่มีระบบขนส่งมวลชน หรือไม่มีสิ่งอื่นเหมือนกรุงเทพฯ ก็แปลกดี เพราะตอนนั้นไอเดียคือจบที่หัวลำโพง แต่เราคิดขึ้นมาว่าเรากำลังทำสิ่งเดียวกับที่รัฐกำลังทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังกำลังวิพากษ์ด้วยซ้ำ ก็เลยตัดสินใจว่าไม่เอาตอนจบแบบนี้ หนังมันควรจะไปเรื่อยๆ ไม่มีที่จบ  อีกประเด็นหนึ่งคือ เรารู้สึกว่ารถไฟมันมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ คือมันทั้งประชาธิปไตยและทุนนิยม (Capitalism) แหละ ในแง่หนึ่งถ้าคุณมีเงินจ่ายคุณก็จะได้นั่งชั้น 1 ที่เงียบสงบ ความเป็นประชาธิปไตยของมันก็คือว่าคุณต้องเดินทางไปช้าๆ ด้วยกันนี่แหละ มันไม่เหมือนเครื่องบินที่ถ้าคุณรวยคุณก็บินหนีไปเลย แต่ถ้ารถไฟมันช้า คุณก็ต้องช้าไปด้วยกัน ถ้ามองว่ารถไฟเป็นเหมือนประเทศ ยังไงคุณก็อยู่ในประเทศนี้ด้วยกัน คุณรวยคุณก็ได้ความเป็นส่วนตัว (privacy) มากขึ้น แต่คุณก็ต้องเผชิญปัญหาเดียวกันในเชิงโครงสร้างทั้งหมดนั้นแหละ เพราะคุณอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน